
ถ้าพูดถึงการประมูลผลงานศิลปะในแวดวงศิลปะของประเทศไทย อาจเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยคุ้นเคยนัก
แต่คุณรู้หรือไม่ว่าในงานประมูลนั้นเต็มไปด้วยโอกาสงามที่จะได้ผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมมาครอบครอง และหลายครั้งนักสะสมอาจพลาดโอกาสนั้นๆ ไปอย่างน่าเสียดายที่สุด
เมื่อ 15 ปีที่แล้ว (ปี พ.ศ. 2549) ผลงานในปี พ.ศ. 2548 ของนที อุตฤทธิ์ ศิลปินไทยที่เวลานี้มีชื่อเสียงระดับสากล ได้ถูกนำเข้าเปิดประมูลในราคาเริ่มต้นที่ 250,000 บาท แต่เป็นที่น่าเสียดายในการประมูลครั้งนั้นยังไม่มีผู้ให้ความสนใจ ทำให้ผลงานถูกปัดข้ามไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ผลงานซีรีย์เดียวกันของศิลปินได้ถูกนำไปจัดประมูลอีกครั้งโดย Christie’s บริษัทรับจัดประมูลงานศิลปะชั้นนำระดับโลก และถูกประมูลไปในมูลค่าสูงเกินกว่า 1 ล้าน ติดต่อกันในปี พ.ศ. 2557 ผลงาน Candle Light (ปี พ.ศ. 2555) ยังได้รับการประมูลสูงถึงกว่า 4 ล้านบาท และในปัจจุบันตลาดศิลปะโลก ผลงานของนทีบางชิ้นนั้น ราคาอยู่ในหลักหลายสิบล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในประวัติการณ์ (อ้างอิงจาก: Natee Utarit | Biography – MutualArt https://www.mutualart.com)

ผลงานชุดเก่าหายากอย่างยิ่งของศิลปินถวัลย์ ดัชนี ที่สร้างในปี พ.ศ. 2514 – 2515 จำนวน 2 ชิ้น ซึ่งได้ร่วมประมูลในครั้งเดียวกัน ก็ถูกข้ามไปอย่างไม่น่าเชื่อ หรือแม้แต่ผลงานของศิลปินชาติชาย ปุยเปีย ที่เคยตั้งเปิดราคาประมูลไว้ที่ 400,000 บาท ก็ไม่ได้รับการประมูลเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าถามถึงราคาผลงานของทั้ง 2 ศิลปิน ณ ขณะนี้ ก็ต้องบอกเลยว่าราคาต่ำกว่าหลักล้านคงหาไม่ได้อีกแล้ว อย่างเช่นผลงาน Rickshaw โดย ถวัลย์ ดัชนี ที่ร่วมในงานประมูลของ Christie’s (ปี พ.ศ. 2561) มีราคาประมูลสูงถึง 4,813,375 บาท และยังเป็นหนึ่งในศิลปินไทยที่ผลงานนั้นหายาก และราคาสูงหลายสิบล้าน หากมีเงินก็ใช่ว่าจะหามาครอบครองได้ง่ายๆ อีกด้วย

ผลงานศิลปะหลายชิ้นที่ถูกละเลยและมองข้ามไป ในตัวอย่างเล็กน้อยที่เล่ามานั้น ปัจจุบันมูลค่าของงานศิลปะเหล่านั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 300-500% และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง