เจาะลึกผลงานพร้อมบทสัมภาษณ์ศิลปินแบบถึงกึ๋น

ปัง!!! เมื่อสิ้นเสียงขานครั้งที่สามพร้อมกับค้อนที่ตีลงมาเพื่อยืนยันการบิด ในราคา 2.9 ล้าน!!! บาท ซึ่งนับราคาสุทธิจะสูงถึง 3.36 ล้านบาท เป็นการเบรคเร็คคอร์ดอีกครั้งของศิลปินไลน์ เซ็นเซอร์ – เกียรติอนันต์ เอี่ยมจันทร์ กับงาน physicalของเขาในชื่อ ‘Forbidden Suit’ ในงานประมูล Let’s Crossover ซึ่งจัดโดย The Art Auction Center เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่อย่างมากของศิลปินรุ่นใหม่กับงานแนวป็อปที่เป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ จากราคาเริ่มต้นเริ่มเพียง 9 แสนบาทเท่านั้น ก่อนจะป้ายบิดมากมายจะถูกยกสลับกันอย่างน่าตื่นเต้น ไปจบที่สูงกว่าราคาประเมินถึงหนึ่งเท่าเลยทีเดียว ก่อนหน้านี้งานของเขาก็สร้างความฮือฮามาแล้วในการประมูลทั้งสามครั้ง ไม่ว่าจะเป็นงาน NFTใน ‘Exceptional Thai Art’ และงานเพ้นท์ติ้งบนผ้าใบใน ‘To the Moon’ ซึ่งจัดโดย Bangkok Art Auction Center รวมถึงก่อนหน้านี้ใน ‘FOMO NO MORE’ การประมูลที่ผนวกเอางาน Physical และ NFT บนแพลตฟอร์ม Bitkub จัดโดย Bitkub ร่วมกับ 129 Art Advisory และ The Art Auction Center ซึ่งงาน physical บวก NFT ของเขาในชื่อ ‘Bit-Boy’ ก็ถูกประมูลไปในราคาสูงถึง 1.74 ล้านบาทเลยทีเดียว

เทคนิค: Acrylic on linen ขนาด: 190 x 190 cm
พูดถึงผลงานชิ้นนี้กันดีกว่า งานเพ้นท์ติ้งชิ้นนี้มีชื่อว่า ‘Forbidden Suit’ สร้างขึ้นในปี 2019 ด้วยเทคนิคสีอะคริลิค ขนาดกว้างและยาว 190 ซม.เป็นจัตุรัส ซึ่งศิลปิน ไลน์ เซ็นเซอร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมงาน ArtTank.Media ถึงผลงาน วิธีคิด ที่มาและการพัฒนางานของเขาไว้อย่างน่าสนใจ
ArtTank.Media: ผลงานชื่อ ‘Forbidden Suit’ ที่ประมูลจบกันไป 3.3 ล้านบาทนี้มีเนื้อหา เรื่องราวอย่างไรบ้าง?
Line Censor: เริ่มจากเราอยากเล่าเรื่องด้วยคาแรกเตอร์เดียวก่อน เลยเขียนหน้าเป็นพอร์ตเทรตน้อยๆ เล่าถึงช่วงชีวิตของเราในช่วงเวลานึง มีทั้งความสุข ความประทับใจ ความผิดหวัง และมีกระแสของโลกร่วมสมัย เหมือนเราบันทึกเรื่องราวแล้วก็ชีวิตประจำวัน เราก็มีสัญลักษณ์ภาษาเฉพาะของเรา เราอาจจะเล่าเรื่องความสุข ก็จะเขียนเป็นหุ่นนิ่งสิ่งของที่เราอยากเขียนที่เราชื่นชอบ แล้วพอเป็นเรื่องความทุกข์ เป็นเรื่องของปีศาจภายในใจเรา และเราก็เชื่อมโยงส่ิงเหล่านั้น ปะติดปะต่อกันโดยที่ว่า มันอาจจะมีความหมายหรือไม่มีความหมาย แต่สุดท้ายแล้วเราก็จะมีภาพสเก็ตช์ในใจมาว่า ช่วงเวลานึงเราอยากจะบันทึกเรื่องราว แต่ก็ยังสามารถควบคุมภาพรวมคาแรคเตอร์งานได้ โดยที่เราหาวิธีการทำงาน คือสมมติว่า เราตั้งว่าชิ้นนี้ทำหนึ่งเดือน เราก็ยังไม่รู้หรอกว่าผลงานที่ออกมาจะเป็นยังไง แต่ก็รู้สึกสนุกกับมันที่เราจะได้บันทึกและเราก็เอาสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาปะทะเราในช่วงเวลานั้น

…สืบเนื่องไปกับสิ่งที่เรารู้สึกว่าสมบูรณ์ในชีวิต เรารู้สึกว่าเรามีการถูกยอมรับในระดับนึง ในช่วงที่ทำชิ้นนี้ เริ่มประสบความสำเร็จในชีวิต นักสะสมเริ่มให้การยอมรับในสายการงานเรา เราก็เริ่มสร้างตัวตนอันมีอัตตาของเราขึ้นมา อันนี้ความหมายในเชิงของส่วนตัวเราเอง เหมือนเราสร้างเกราะทางความคิดขึ้นมา เรามีตัวตนของเรา ที่ตั้งชื่องานว่า เกราะต้องห้าม เป็นสิ่งต้องห้ามขึ้นมา เพราะมันเหมือนกับคนเราชอบมีอภิสิทธิ์บางอย่างที่มันพิเศษกว่าคนอื่น เรารู้สึกว่าเราเป็นคนเอาแต่ใจตัวเองด้วย เราก็เอาคาแรกเตอร์ของเราเอามาถ่ายทอดให้เต็มที่เลย เราชอบพวกการ์ตูน พวกเซนต์เซย่าที่เป็นการการ์ตูนสมัยก่อน เรารู้สึกว่าเราสนุกกับการต่อสู้เหมือนพวกเด็กผู้ชาย ชอบชุดเกราะ ก็เลยเอาสิ่งพวกนี้มาผสมผสานกันแล้วถ่ายทอดที่เป็นมุมมองของเราในเชิงศิลปะ และก็มีการทำงานให้มันเกิดประโยชน์ต่อการบันทึกชีวิตประจำวันของเราด้วย

ArtTank.Media: ผลงานชิ้นนี้มีความพิเศษหรือแตกต่างกว่าชิ้นอื่นในแง่ใดบ้าง?
Line Censor: ก่อนหน้าชิ้นนี้ยังไม่เคยเขียนที่เป็นภาพพอร์ตเทรตชัดๆ อย่างในนิทรรศการโซโล่ก็จะเป็นภาพเล่าเรื่อง มีรายละเอียดในแบ็คกราวด์ แต่อย่างงานชิ้นนี้จะเหมือนรวมปะทะเลย เป็นรูปเดียวและให้อยู่จุดศูนย์กลางเป็นจุดเด่น ก็คือเป็นคาแรคเตอร์เรา แล้วก็มีพอร์ตเทรต คือลดทอนให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งมันจะเหลือแค่สามส่วนหลักๆ คือ พอร์ตเทรตกับชุดเกราะและแบ็กกราวด์ …บางทีเราทำงานมาพอสมควรแล้ว มันอาจจะมีจุดนึงที่อาจจะน้อยบ้าง แต่มันไม่สามารถน้อยได้ขนาดนั้น มันต้องมีความเป็นตัวเราด้วย เพราะฉะนั้นเราก็เลยรวมเอาคาแรคเตอร์ที่มันแสดงออกชัดที่สุด และรายละเอียดที่เราชอบ กับแบ็กกราวด์ที่มันคลีน ก็รู้สึกว่ามันได้อะไรขึ้นมา และเป็นชิ้นแรกที่ทำเป็นเกราะสีทองแบบนี้ ก็ถือว่าเป็นชิ้นที่พิเศษพอสมควร ถึงแม้พอร์ตเทรตจะทำมาหลายชิ้นแล้ว แต่ชิ้นนี้น่าจะชัดเจนสุด

ArtTank.Media: ได้ติดตามผลงานก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ที่มีความเป็นจิตรกรรมไทยร่วมสมัย เห็นว่ามีรายละเอียดที่ต่างออกไปจากปัจจุบัน อยากให้เล่าย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นว่าอะไรคือจุดเปลี่ยนหรือไอเดียหลักของการพัฒนางานช่วงปีนั้น?
Line Censor: ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยเรียนป.ตรี ประมาณปีสามปีสี่ เราชอบเขียนการ์ตูนอยู่แล้ว แต่เราวาดจิตรกรรมไทยไม่เป็น ได้เห็นจิตรกรรมฝาผนังของไทยด้วย แต่ก็ยังไม่ชอบหรอก แต่ไปเห็นเพื่อนทำงานจิตรกรรมไทยที่เป็นงานสร้างสรรค์ก็เลยชอบ เพราะมันมีการตัดเส้น มีระนาบ แล้วรู้สึกว่ามันประณีตดี เราเลยรู้สึกว่ามันถูกจริตกับเรา เราก็เลยเอามาเป็นแรงบันดาลใจ เริ่มต้นจากตรงนั้น เลยเอามาเขียนรูปเพราะรู้สึกมันคล้ายๆ การ์ตูน เอามาเขียนเป็นตัวพระตัวนางแล้วก็ตัดเส้นเข้าไป
ArtTank.Media: ดูงานสมัยนั้นแล้ว เห็นมีรูปแบบการ์ตูนคาแรกเตอร์ผสมเข้าไปด้วย
Line Censor: ใช่ครับ แต่สมัยก่อนยังไม่มีคำว่าคาแรกเตอร์และยังไม่เป็นที่ยอมรับซักเท่าไหร่ เราก็แค่วาดตัวกากในจิตรกรรมไทย เป็นการเล่าเรื่องแบบนั้น ซึ่งพอสนใจก็เอาบางส่วนของจิตรกรรมไทยมาใช้ เอาการตัดเส้น ความเป็นระนาบ คือไม่ได้สนใจเรื่องราวพุทธประวัติซักเท่าไหร่ แต่เอารูปแบบมาใช้ เพราะว่าชอบและผมจะเป็นแบบง่ายๆ ชอบก็เอามาประยุกต์เข้ากับงานที่เราอยากจะเล่า เรื่องที่เล่าก็เป็นเรื่องทั่วไป ตอนนั้นก็เกี่ยวกับเรื่องครอบครัว ก็เลยทำเป็นสีขาวสีดำ และส่งประกวดก็ได้รางวัล…มันเริ่มจากสิ่งที่เราชอบ เอามาประยุกต์และเล่าเรื่องในแบบของเรา แล้วก็ทำมันมาต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่างานทุกชิ้นจะออกมาสมบูรณ์ ก็อาศัยทำมาเรื่อย แต่เพราะรู้สึกว่าชอบจิตรกรรมไทยและการ์ตูน ก็เลยประยุกต์มาเรื่อยๆ เป็นเวลาสิบกว่าปี มีแสดงโซโล่ด้วย… เราทำเพ้นติ้งมาตลอด มันก็ค่อยๆ เล่าเรื่องมาตลอด มันเหมือนเป็นการเดินทาง มันจะไม่กระโดดเป็นชุดๆ อย่างศิลปินบางคน ผมจะมีโลกของผมที่รู้สึกว่ายังมีด้านมุมที่ยังไม่ได้เล่าอยู่ ก็เลยอยากจะถ่ายทอดอย่างช้าๆ ค่อยๆ ไป เหมือนเราย้ำ เรากลั่นกรอง บางอย่างไปเรื่อยๆ … มันอาจจะมีการซ้ำบ้าง แต่ก็มีนัยยะบางอย่างที่ค่อยๆเปลี่ยนมาเรื่อยๆ อย่างเช่น มีตัวคาแรกเตอร์ที่เป็นตัวเดียวขึ้นมา อาจจะเป็นช่วงกลางที่เราเริ่มแสดงนิทรรศการ มันก็อาจประยุกต์เข้ามาสู่ความเป็นเพ้นท์ติ้งมากขึ้น

รางวัลประกาศนียบัตรเกียรตินิยม อันดับ 1 เหรียญทอง (จิตรกรรม) การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 55 พ.ศ. 2552
ArtTank.Media: น่าจะประมาณปี 2012-2013 หรือเปล่าที่งานเป็นตัวคาแรกเตอร์เดี่ยวๆจะเริ่มชัดขึ้นมา ?
Line Censor: ใช่ครับ ช่วงนั้นเลย เริ่มเป็นตัวคาแรกเตอร์เป็นตัวๆ ขึ้นมา แต่ก็ยังไม่เน้นดีเทลละเอียดเยอะอย่างในปัจจุบัน ชุดปัจจุบันนี้เป็นชุดที่อยากเขียนที่สุด ซึ่งชุดก่อนหน้านี้มันก็เหมือนเราทดลองแล้วเรารู้สึกว่าเราก็ค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ จากจิตรกรรมไทยมาสู่ความเป็นเพ้นท์ติ้ง

Edition of 30
ArtTank.Media: กระแสงานแนว Pop และ Art Toy ที่มาแรง รวมถึง NFT ที่เกิดขึ้นมา เราก็เป็นศิลปินที่ทำงานแนวนี้และลง NFT ด้วย คิดเห็นยังไงกับโลกศิลปะปัจจุบันในฐานะศิลปินที่เป็นไอดอลให้กับใครหลายคน ?
Line Censor: ได้ยินคำว่า ไอดอล ก็ดีใจ บางทีน้องๆ ก็มาพูดว่าพี่เป็นแรงบันดาลใจ ก็ดีใจ … ที่มีคนพูดว่าป็อปอาร์ตมันมาแรง แต่จริงๆ แล้ว กว่าที่ศิลปินหลายๆคนจะทำงานมาได้ขนาดนี้ กว่าที่จะได้รับการยอมรับ อย่างผมนี่ก็ทำงานแนวนี้มานานพอสมควรแล้ว เพราะผมสนุกกับการเรียนรู้อะไรใหม่และไม่กลัวที่จะล้มเหลว ก็เลยทำไปเรื่อยๆ แต่ผมก็ย้อนกลับมาดูตัวเองตลอด คือเราก็ทำงานให้เต็มที่และสนุกกับงาน มองเป้าหมายประมาณห้าปีข้างหน้า เราจะเป็นอะไร เราจะทำอาชีพอะไร เรามีเป้าหมายอะไรมากกว่า มันจะชัดกว่าเรามองที่กระแส ทำในสิ่งที่เราคิดต่อไป แต่ไม่ใช่ว่าไม่ปรับตัวเลย มันต้องเรียนรู้โลกด้วย ต้องสนุกกับเรื่องราวใหม่ๆบ้าง ไม่อย่างนั้นการทำงานมันก็ไม่มีสีสัน ตามกระแสไปบ้างก็ได้และก็เรียนรู้มัน ส่วนสุดท้ายก็มองถึงอนาคต
ArtTank.Media: ใครที่เป็นศิลปินไอดอลหรือเป็นแบบอย่างให้กับเรา?
Line Censor: ถ้าอย่างในเมืองไทยก็จะเป็น อ.ถวัลย์ ดัชนี อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และก็พี่นที อุตฤทธิ์… เราก็ดูวิธีการทำงาน การจัดการชีวิตทั้งชีวิตให้มันไปด้วยกัน คือเป็นโมเดลที่มันทุ่มเททั้งชีวิต ถ้าเราตั้งใจทำ เราหนักแน่นพอ และเราทำในสิ่งที่มันออกมาจากตัวตนของเราจริงๆ ที่เราชอบจริงๆ มันน่าจะไปได้ไกล

ArtTank.Media: เพราะกระแสต่างๆ ทำให้ศิลปะเข้าถึงผู้คนได้กว้างขวางขึ้นมาก อยากให้ฝากอะไรถึงคนใหม่ๆ ที่เข้ามาสนใจศิลปะ
Line Censor: จากที่สังเกตเอง ก็เห็นว่ามีนักสะสมและศิลปินรุ่นใหม่เข้ามามากขึ้น และกระแสมันก็เปิดกว้าง เราก็ได้เรียนรู้ความคิดใหม่ๆ อยากจะฝากในเรื่องของความเป็นตัวตนของศิลปินคนนั้นๆ ถ้าในมุมของคอลเลคเตอร์ เรื่องการเก็บสะสมงานของศิลปิน ก็อยากให้มองระยะยาวของเค้า บางคนถึงแม้จะเขียนเป็นงานแนวไทยประเพณี แต่ทำงานอย่างต่อเนื่องและคุณภาพดีมาก ก็อยากให้มองว่ามันมีคุณค่าในแบบของเค้า … ถ้าในมุมสำหรับน้องๆ ที่ทำงานศิลปะ ก็อยากให้มองเป้าหมายในระยะยาวว่าเราต้องการอะไร เราชอบแบบไหน ความเป็นพวกการ์ตูน พวกป็อป มันก็มองง่ายเสพง่าย แต่ว่าก็มีคนทำเยอะ ซึ่งทุกอย่างมันก็ไม่ง่าย แต่ขอให้อดทน ให้ยืนระยะยาวๆ และสังเกตว่าตัวตนที่เราชอบคืออะไร แล้วก็มาช่วยให้กำลังใจกันในทุกอย่างทุกด้าน

มาเจาะลึกถึงชีวิตศิลปินกันต่อ เกียรติอนันต์ เอี่ยมจันทร์ หรือที่รู้จักกันในวงการว่า ไลน์ เซ็นเซอร์ เกิดเมื่อปีพ.ศ. 2525 ที่จังหวัดลพบุรี จบการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโท ในสาขาจิตรกรรม จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาสนใจที่จะนำเสนอความซับซ้อนของรูปวัตถุสมัยใหม่ควบคู่ไปกับรูปทรงที่ได้รับแรงบันดาลใจจากทั้งศิลปะไทยประเพณีอันประณีต การถ่ายทอดเนื้อหาด้วยภาษาศิลปะ และพุทธศาสนา รวมถึงความวิจิตรบรรจงอันเป็นเอกลักษณ์ของจิตรกรรมไทยประเพณี สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมเข้ากับสไตล์ส่วนตัวของเขาและการแสดงออกถึงทัศนคติความคิดเห็นที่มีต่อโลกปัจจุบัน ผลงานของเขาได้ถูกจัดแสดงในแกลเลอรีไทยและต่างประเทศมากมาย ทั้งยุโรปและทั่วเอเชีย เกียรติประวัติของเขาก็มีอยู่มากมายจากการชนะรางวัลการประกวดศิลปกรรมต่างๆ เช่น รางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 การประกวดจิตรกรรมร่วมสมัย PANASONIC ครั้งที่ 8 รางวัล
ดีเด่นการประกวดศิลปกรรมนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต TOSHIBA ครั้งที่ 17 และ รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทองการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 55 เป็นต้น รวมถึงผลงานอยู่ในคอลเลคชั่นสะสมส่วนบุคคลและองค์กรต่างๆ ในปัจจุบันผลงาน NFT ของเกียรติอนันต์ได้เผยแพร่ไปสู่แพลตฟอร์มอินเตอร์ระดับโลก เช่น Foundation และ Opensea ยิ่งไปกว่านั้น เขาเป็นศิลปินคนแรกของไทยที่ได้รับเชิญเข้าร่วมใน SuperRare แพลตฟอร์ม NFT ระดับท็อปที่มีการคัดสรรเฉพาะศิลปินระดับโลกและมีราคาเสนอที่สูงมากจากนักสะสมระดับนานาชาติ

“เมื่อก่อนผมเป็นแค่เด็กติดเกมส์ ชอบวาดรูปแต่เด็กๆ เหมือนเด็กทั่วไป พรุ่งนี้ก็ยังสนุกกับการวาดรูป” ศิลปินกล่าวไว้อย่างน่าประทับใจในโซเชียลของเค้า อีกทั้งยังมีประโยคเด็ดที่ประกอบอัพเดทภาพ profile picture ให้เป็นภาพผลงานที่เบรคเรคคอร์ดการประมูลล่าสุดนี้ คือ “Be strong enough to let go and patient enough to wait for what you deserve.” ซึ่งแปลได้ว่า “จงเข้มแข็งให้มากพอที่จะปลดปล่อยบางสิ่งไปและจงอดทนรอในสิ่งที่คุณสมควรได้รับ”

ด้วยสไตล์งานและคาแรกเตอร์อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปิน ทำให้สามารถถ่ายทอดออกมาในเทคนิคและแพลตฟอร์มได้หลากหลายทั้ง จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ งาน Art Toy และ NFT ซึ่งทุกๆ อย่างที่สร้างสรรค์ออกมา ก็มีนักสะสมรีบจับจองกันไปครอบครอง เพราะไม่อย่างนั้นจะอด… หมดไม่ทันการเลยทีเดียว!!!
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
https://www.facebook.com/kiatanan.iamchan
www.bangkokartauctioncenter.com/th/
https://www.artsy.net/artwork/line-censor-origi
http://www.theartauctioncenter.com
https://foundation.app/@linecensor
http://www.resource.lib.su.ac.th/awardsu/web/artdetail?item_id=286