
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้พูดถึงอาร์ตทอยของไทยกันไป คราวนี้ไปตะลุยกับอาร์ตทอยนอกเมืองไทยบ้านเฮากันบ้างดีกว่า เลยขอเท้าความเกี่ยวกับ Art Toy ต่างประเทศและเกร็ดความรู้กันสักเล็กน้อย … อาร์ตทอย (Art Toy) หรือ ดีไซน์ทอย (Design Toy/ Designer Toy) ฝั่งเอเชียจะนิยมเรียกว่า “อาร์ตทอย” ฝั่งตะวันตกจะนิยมเรียกว่า “ดีไซน์เนอร์ทอย” แต่นิยามทั้งสองนั้นมีความหมายคล้ายคลึงกันคือ “ของเล่นที่ศิลปินเป็นผู้ออกแบบและผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดเพื่อจำหน่ายหรือส่งมอบให้กับผู้อื่น” แต่ต่างจากของเล่นของสะสมทั่วๆ ไปที่เราเห็นตามร้านของเล่นตรงที่มีการผลิตจํานวนจํากัด และมักจะไม่จะผลิตขึ้นมาใหม่ และมองได้ว่าเป็นงานศิลปะอีกแบบหนึ่งที่นิยมสะสมในระยะยาว

อาร์ตทอย นั้นได้ถือกําเนิดในช่วง ค.ศ.1990 โดย กลุ่มศิลปินชาวอาร์ตทอย ที่ชื่นชอบของเล่นได้รวมตัวกันเอง และจัดแสดงโชว์ผลงานขึ้นในรูปแบบของงานนิทรรศการเล็กๆ และหลังจากนั้นก็เริ่มมีการเติบโตและขยายอิทธิพลมาจนถึงประเทศไทย อาร์ตทอยนั้นแตกต่างจากของเล่นหรือของสะสมอื่นๆ หัวใจหลักของอาร์ตทอยก็คือ คำว่า ‘ออกแบบโดยศิลปิน’ ‘จำนวนจำกัด’ ‘ย้อมสีใหม่/ลายใหม่บนตัวเดิม’ และ ’ราคาสูงกว่าของเล่นทั่วไป’ นั่นเอง ส่วนสไตล์และวิธีในการออกแบบนั้นคงอยู่ที่ตัวศิลปินเองว่าจะเลือกแนวทางไหน

‘การออกแบบ’ คือ จุดเด่นของอาร์ตทอยซึ่งจะเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจและแนวคิดของศิลปินโดยแท้ อาร์ตทอยจึง ‘ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อเรื่องมารองรับ’ เหมือนกับพวกของเล่นประเภทอื่นๆ ที่อาจจะสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยนำเอาคาแรคเตอร์จากการ์ตูนชื่อดังมาเปลี่ยนให้เป็นของเล่น เรียกได้ว่า “เน้นขายที่ดีไซน์” จะเป็นใคร ทำอะไร ที่ไหน ไม่จำเป็นต้องบอก แต่ถ้าศิลปินอยากบอก ก็ไม่ได้ผิดกฎอะไร

ทีนี้มาลองฟังคอลเลคเตอร์ที่ผ่านการสะสมงานศิลปะมามากมายหลายประเภทอย่าง อ.ภาคภูมิ เต็งอำนวย ถึงประสบการณ์การเก็บสะสมอาร์ตทอยต่างประเทศกันบ้างดีกว่า “… อาร์ตทอยต่างประเทศแม้เป็นของศิลปินดัง เราอาจไปแย่งซื้อได้ทัน มันมีบริษัทดังๆที่เค้าผลิตอาร์ตทอยพวกนี้อยู่ อย่างเช่น APPortfolio เป็นต้น ถ้าเราซื้อเค้าบ่อยๆเค้าก็จะจำเราได้ ก็ให้พวก VIP ได้สิทธิ์จองก่อน ก่อนที่เค้าจะ regular launch คือ ก็จะมาบอกก่อนเป็นการภายใน ระบบการซื้ออาร์ตทอยในต่างประเทศกับในไทยก็เริ่มจะคล้ายๆกันเข้าไปทุกทีแล้ว ก็จะประกาศออกมาให้คนเข้าไปจองซื้อทางเว็บ ซึ่งกดทันบ้างไม่ทันบ้าง ก็แล้วแต่ดวง … ส่วนเรื่องเลข edition ถ้าเป็นฝรั่งเค้าจะไม่ค่อยแคร์เรื่องเลขกันเท่าไหร่ แต่คนไทยคนเอเชียจะชอบมาเล่นเรื่องเลขกัน เลขตัวเดียวหรือเลขแปดเลขเก้า เลขเบิ้ล เลขเรียง และราคาก็จะไม่เท่ากัน แล้วแต่ว่าเลขสวย เวลามาขายต่อกันในตลาดมือสองก็จะแพงกว่า แต่ฝรั่งจะไม่แคร์เรื่องนี้ จะแคร์เรื่องสภาพมากกว่า จะต้องไม่มีตำหนิ ชำรุดหรือรอยบิ่น

… ตอนนี้ผมลองเปลี่ยนแนวการสะสมมาเป็นงานนอกดูบ้าง จริงๆแล้วคุณภาพและวัสดุก็ไม่ได้ต่างไปจากของศิลปินไทยเลย แถมราคาแพงกว่าเยอะด้วย แต่หลังจากเก็บสะสมงานมาอย่างสะบักสะบอม อย่างน้อยก็เห็นแล้วว่าการเก็บอาร์ตนอกของศิลปินดัง มีคนรู้จักกันทั่วโลก จะได้เปรียบเวลาขายออก ถ้าขายในเมืองไทยไม่ได้ก็ยังส่งประมูลลุ้นเอาก็ยังดี … อาร์ตนอกเวลามาปล่อยกันในเมืองไทย ก็ไม่ใช่ว่าจะขายกันได้ง่ายๆ ถึงแม้งานของศิลปินบางคนจะเป็นที่รู้จักทั่วโลก บางทีเค้าไม่นิยมกัน แต่ถ้าเป็นงานของ Alex Face หรือศิลปินไทยที่โกอินเตอร์ ก็จะเล่นกันมาก อย่าง Muebon หรือ Gongkan

อาร์ตทอยต่างประเทศที่ชอบมากเป็นพิเศษ ตอนนี้ก็มีของ เจมส์ จีน ซูจุร่า และยูซุเกะ อาไน พวกนี้เค้าจะคอลแลปส์กับโปรดิวเซอร์ที่มีชื่อเสียงอย่างเช่น DGGstore ที่ฮ่องกง หรือ APPortfolio หรือ Avant Arte หรือ Mighty Jaxx ก็ทำของเล่นเยอะ และก็มี Pop Mart หรือ Global ก็เป็นบริษัทใหญ่ที่ทำกึ่งอาร์ตทอย ส่วนงานที่เป็นกระแสมาแรงตอนนี้ คิดว่าน่าเป็น James Jean และอีกคนคือ Hebru Brantley ศิลปินผิวสีชาวอเมริกัน เค้าจะมี sculpture ที่ทำจากโลหะซึ่งถือว่าเป็นไฟน์อาร์ต แต่เค้าก็จะออก Sculpture ที่ทำจาก polystone หรือ เรซิ่น อีกด้วย ซึ่งจะเป็นอาร์ตทอยและราคาจะย่อมเยาว์กว่า แต่ถึงเค้าออกมาขนาดนี้ ก็จองกันไม่ทัน ผมก็ไม่เคยจองทัน ต้องไปซื้อในตลาดมือสอง ส่วนอาร์ตทอยต่างประเทศที่แม้อยู่มานานแล้ว ก็ยังน่าสนใจน่าสะสม ที่เห็นเค้าเล่นกันก็มี Labubu หรือ Shimomo

สิ่งที่ต้องระวังในการสะสมอาร์ตทอยต่างประเทศ และจะเจอปัญหาบ่อยที่สุด คือ ชำรุดระหว่างการขนส่ง โดยเฉพาะอาร์ตทอยที่ทำจาก polystone มันอาจจะดูดีกว่าไวนิลที่เป็นพลาสติก แต่มันเปราะ คล้ายๆ แก้ว เวลาโดนกระแทกจากการโยนไปมาระหว่างขนส่ง ดูจากกล่องภายนอกไม่บุบสลาย แต่พอแกะกล่องออกมา จะพบว่าหัก ซึ่งเจอแบบนี้บ่อยมากกับวัสดุ polystone และเรซิ่น โอกาสเสี่ยงสูงถึงห้าเปอร์เซนต์ที่เจอมา ต้องส่งคืน ขอเปลี่ยน เสียเวลามาก อันนี้ก็เป็นข้อควรระวัง … เราก็อาจจะซื้อมือสองต่อจากนักสะสมในเมืองไทย หรือซื้อผ่านแกลเลอรีที่เป็นตัวแทนจำหน่ายหรือได้โควต้าส่วนหนึ่งมาจากแบรนด์ดังๆในต่างประเทศ เช่น Avant Arte เป็นต้น แล้วเค้าก็มาจำหน่ายต่อ ซึ่งถ้าตัวไหนมีตำหนิ เราไปเคลมจากที่เมืองไทยได้ง่ายกว่า ถึงแม้ว่าจะใช้เวลานานเป็นเดือน แต่ถ้าเราสั่งตรงจากเมืองนอกเลย เราก็ต้องวิ่งเต้นเรื่องเคลมเองทุกอย่าง …”



______
ขอขอบคุณข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร. ภาคภูมิ เต็งอำนวย
Credits:
https://www.plotter.in.th/?p=12522
https://www.widewalls.ch/magazine/designer-toys-collectable-art/tristan-eaton-dunny-and-munny
https://www.timeout.com/hong-kong/art/outside-in-an-unconventional-world-of-art-toys
#tankhappening #arttank #arttankmedia #arttankgroup #arttoy #toyart #designertoy
#media #press #artmedia #artcontent #arthappening #artnow
#art #visualart #fineart #contemporaryart #artscene #artworld #artexhibition #ศิลปะ