
“ผมได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายวิทยาศาสตร์ทุกเรื่องที่เคยอ่านสมัยเด็ก”
-James Cameron
ตั้งแต่สมัยบรรพกาลที่ศิลปะได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้น มนุษย์ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพที่ตัวเองเห็นและนำมาปรับเปลี่ยน ทำซ้ำ ดัดแปลงออกมาเป็นรูปแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอ ตั้งแต่มนุษย์ถ้ำลอกกระทิงลงมาบนผนังถ้ำ รูปปั้นกรีกที่พัฒนามาจากไอยคุปต์ให้ดีขึ้นผ่านความเข้าใจถึงสรีระของมนุษย์ Michelangelo ที่นำความรู้นั้นมาใช้ในการอธิบายรูปลักษณ์ของพระผู้เป็นเจ้าและมนุษย์ จนถึง Edgar Rice Burroughs, Ray Bradbury, H.P. Lovecraft, H.G. Wells, และ Arthur C. Clarke ที่จินตนาการ ตั้งคำถามถึงภาพจักรวาลอันลี้ลับไพศาลเหนือสิ่งที่พระองค์ได้สร้างไว้ จนเกิดเป็นภาพประกอบของนิยายวิทยาศาสตร์ยุคแรกเริ่ม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบอันขาดไม่ได้หากคน ๆ หนึ่งจะสร้างโลกอัน “เหนือจริง” ขึ้นมา
James Cameron ได้เคยกล่าวข้อความข้างต้นไว้เมื่อเกือบ 16 ปีก่อน เป็นครั้งแรก ๆ ที่มีกล่าวถึงโปรเจค Avatar (2009) ภาพยนตร์ไซไฟเหนือจินตนาการที่จะมาเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงที่สุดตลอดกาล และเข็นภาคต่อในอีก 13 ปีต่อมาอย่าง Avatar: The Way of Water ที่กำลังออกฉายอยู่ในขณะนี้ ซึ่งต้องลุ้นว่าจะกลับมาล้มยักษ์ที่ตนเองได้เคยสร้างไว้ได้หรือไม่
โลกของ Avatar ได้กล่าวถึงการที่มนุษย์นั้นหนีร้อนออกจากโลกซึ่งขาดแคลนทรัพยากรมาพึ่งเย็น สร้างอาณานิคมในดาวแพนโดรา เพื่อที่หวังว่าจะเป็นบ้านแห่งใหม่ของมวลมนุษย์ จนเกิดข้อขัดแย้งกับชาวนาวีที่เป็นสปีชีส์พื้นเมืองที่อาศัยอยู่อย่างกลุ่มชนเผ่าที่อาจได้รับแรงบันดาลใจมาจากชนพื้นเมืองอเมริกัน รวมถึง “อวตาร” ซึ่งเป็นชาวนาวีดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อให้มนุษย์สามารถถอดจิตเข้าสู่ร่าง และเป็นประโยชน์ต่อการ ขยายอาณานิคม
นอกจากนวัตกรรมภาพยนต์สามมิติ CGI นัยทางการเมืองต่าง ๆ หรือพล็อตของหนังที่อาจจะเลือนหายไปตามกาลเวลา สิ่งหนึ่งที่เราไม่อาจลืมได้เลยคือ ภาพของแพนโดราอันทรงพลังที่ถูกสร้างสรรค์อย่างละเมียดละไม เอเลี่ยนคล้ายแมวตัวสีฟ้าตัวโย่งอย่างชาวนาวีอันเป็นเอกลักษณ์ เทคโนโลยีโลกอนาคตของมนุษย์ และสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีองค์ประกอบจากภาพประกอบนิยายวิทยาศาสตร์หลาย ๆ เรื่อง ที่หากแม้เคยรู้จักเพียงเล็กน้อยก็จะสามารถตบเข่าฉาดได้ตลอดทั้งเรื่อง
ในวันนี้เราจะพากันเกาะกระแส พาไปชมกับงานศิลปะต่างยุคต่างสมัย ไม่ว่าจากงานวิจิตรศิลป์ ภาพประกอบ หรือ ภาพยนตร์ ที่เชื่อว่าอาจเป็น “แรงบันดาลใจ” อันก่อให้เกิดโลกอันละเมียดละไมของแพนโดราขึ้นมา เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านเตรียมพร้อมไปตบเข่าฉาดกับ Avatar: The Way of Water ที่กำลังเข้าฉายอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้ บทความไม่ได้มีเจตนากล่าวหาทางผู้กำกับหรือทีมงานของภาพยนต์แต่อย่างใด เพียงแต่ทางเราได้ทำการวิเคราะห์ภาพยนต์ผ่านเลนส์ของโลกศิลปะ เพื่อเป็นสาระความรู้แก่ผู้อ่านเท่านั้น

หากจะพูดถึงจุดเริ่มต้นของหลาย ๆ องค์ประกอบในแพนโดรา ก็อดที่จะกล่าวถึง กัลลิเวอร์ผจญภัย นวนิยายสุดคลาสสิกที่ตีพิมพ์ในปี 1726 เป็นเรื่องราวการผจญภัยของกัลลิเวอร์ นักเดินทางที่รอดจากเรืออับปางจนไปเจอกับอาณาจักรคนตัวเล็ก โจรสลัด ที่เป็นแรงบันดาลใจต่อผลงานในยุคหลังตลอดมา หรือแม้กระทั่งการถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในวรรณกรรมของ “เมืองลอยฟ้า” อย่าง “Laputa” ที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งอันเป็นแรงบันดาลใจแก่นักเขียนและศิลปินในยุคหลังดังเช่น Roger Dean หรือ Hayao Miyazaki ในการสร้างภาพยนต์เรื่อง Laputa: Castle in the Sky หรือ ลาพิวต้า พลิกตำนานเหนือเวหาที่ออกฉายในปี 1986 หรือแม้กระทั่งหุบเขาฮาเลลูย่าอันเป็นเอกลักษณ์ในเรื่อง Avatar นั่นเอง

Roger Dean เป็นศิลปินนักวาดภาพประกอบชาวอังกฤษที่เคยได้วาดปกของวง Yes อันโด่งดัง เขา เป็นศิลปินที่มีเอกลักษณ์ในการวาด “เกาะลอยฟ้า” รวมถึงสัตว์ประหลาดต่างๆอันหน้าตาคุ้นเคยที่เราเห็นในภาพยนตร์ต่าง ๆ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นบิดาแห่งลัทธิ *Imaginative Realism หรือ สัจนิยมในจินตนาการ
*「 แล้ว Imaginative Realism คืออะไร? 」
「 มนุษย์เราล้วนแต่มีเศษเสี้ยวแห่งภาพของความไม่รู้เต็มไปทั่วสมองไม่ว่าจะเป็น นักรบ พ่อมด ปีศาจ สัตว์ประหลาด หุ่นยนต์หรือแม้แต่ยานอวกาศอันยิ่งใหญ่ สิ่งเหล่านี้ล้วนหล่อหลอมเราที่ใช้ชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 อย่างในทุกวันนี้ ศิลปะ Imaginative Realism ต้องการที่จะนำภาพเหล่านั้นออกมาสู่โลกภายนอก ศิลปะเหล่านี้ไม่ต้องการคำอธิบาย ไม่ต้องการคำวิพากย์วิจารณ์ ถึงแม้จะมีคำกล่าวถึงการไม่ชอบ แต่น้อยคนนักที่จะบอกว่า “ไม่เข้าใจ” นั่นก็เพราะสิ่งต่างๆในงานเหล่านี้ไม่มีจริง หรือถ้าพูดให้ถูกคือ มีจริงแต่ในจินตนาการของพวกเราเพียงเท่านั้น ตัวอย่างของศิลปินประเภทนี้ เช่น Justin Sweet, James Gurney, Donato Giancola, Vince Natale, และ Roger Dean เป็นต้น 」

Princess Mononoke หรือ เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร ผลงานระดับขึ้นหิ้งของผู้กำกับ Hayao Miyazaki แห่งสตูดิโอ Ghibli ที่ออกฉายในปี 1997 นั้น มีอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์เป็นอย่างมาก หากมองข้ามในส่วนของพล็อตต่าง ๆ องค์ประกอบภาพหลาย ๆ อย่างใน Avatar นั้นสามารถเรียกได้ว่าชวนให้นึกถึงภาพยนต์เรื่องนี้ เช่นตัวละครชนเผ่าหญิงแกร่งที่หาญสู้กับผู้ผลิตปืน ตัวละครชายที่เป็นตัวเชื่อมของทั้งสองเผ่า หรือใบหน้าของเทพพงไพรที่ละม้ายคล้ายคลึงกับใบหน้าของชาวนาวี เป็นต้น

อีกหนึ่งผลงานชิ้นสำคัญของ Hayao Miyazaki อย่าง Nausicaa of the Valley of the Wind หรือ มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลมที่ออกฉายในปี 1982 ที่มีธีมหลักสำคัญอย่างการโผบินด้วยเครื่องร่อน แต่ที่สำคัญที่สุดคือองค์ประกอบของการเชื่อมต่อจิตผ่านทางกิ่งก้านไม้เลื้อย ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าชวนให้นึกถึงการเชื่อมต่อจิตของชาวนาวีผ่านเส้นผมกับเอวาที่เสมือนเป็นพระแม่ธรณีของดาวแพนโดรา

Boris Vallejo เป็นศิลปินชาวเปรูอเมริกันที่มีผลงานแนว *แฟนตาซีไซไฟอีโรติกอันเป็นเอกลักษณ์ ผลงานของเขาประกอบไปด้วยการต่อสู้ของชนเผ่าและสัตว์ประหลาดมากมาย เป็นภาพประกอบนิยายแฟนตาซีและไซไฟอันเลื่องชื่อหลาย ๆ เรื่องเช่น Conan the Barbarian หรือ John Carter ถึงอาจจะกล่าวได้ไม่เต็มปากว่า James Cameron ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปินท่านนี้โดยตรง แต่ถ้าหากกล่าวถึงผลงานที่นักวาดท่านนี้ไปประกอบอยู่รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ ก็อาจกล่าวได้ว่าผลงานของศิลปินท่านนี้ต้องมีส่วนในการให้แรงบันดาลใจการสร้างสรรค์โลกแพนโดราของผู้กำกับไม่มากก็น้อย
*「 Fantasy Art คืออะไร? 」
「 เมื่อเรากล่าวถึงศิลปะแฟนตาซี เราอาจนึกถึงเกม ภาพยนตร์ ปกนิยาย หรืออนิเมะที่เราเห็นในปัจจุบัน อาจเป็นลัทธิทางศิลปะที่นักประวัติศาสตร์ศิลป์ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก อาจย้อนได้ไปถึงศิลปะโบราณเช่นศิลปะคริสเตียนโรมันจนถึง Paradise Lost และเกมกระดานอย่าง Dungeon & Dragon แต่ศิลปะแขนงนี้ก็เป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างจินตนาการของผู้คนในยุคร่วมสมัย เพราะศิลปะแฟนตาซีคือการสร้างสรรค์ “จินตนาการ” ผ่านภาพวาดนั่นเอง
แต่สำหรับยุคร่วมสมัยแล้ว กลุ่มแขนงศิลปะแฟนตาซีที่น่าสนใจนั้นเกิดขึ้นในยุค 60-80s ที่มีองค์ประกอบที่ชัดเจนสามอย่าง นักรบเผ่า ทาสหญิง และอสูรกาย ที่เป็นพล็อตสำคัญของวรรณกรรมที่แฟนตาซีคลาสสิคอย่าง Conan the Barbarian หรือโคแนน นักรบเถื่อน หรือเรื่องราวอื่น ๆ ที่มีองค์ประกอบคล้ายกันอย่าง The Lord of the Ring และ John Carter ที่เป็นแม่แบบของเรื่องราวแฟนตาซีในยุคร่วมสมัยในปัจจุบัน กลุ่มผลงานเหล่านี้พูดถึงการเดินทางของวีรบุรุษ หรือ **The Hero’s Journey ความงดงามของความแข็งแกร่ง ความเป็นชาย อสูรกายในจินตนาการเหนือมนุษย์ การอยู่แบบ “ชนเผ่า”
กลุ่มศิลปินที่สำคัญในยุคนี้เช่น Doug Rosa, Frank Frazetta, Ray Cruz, Boris Vallejo เป็นต้น
**สามารถอ่านเรื่องราว The Hero’s Journey ที่ปรากฏใน The Hero with a Thousand Faces ของ Joseph Campbell เพิ่มเติมได้ที่ https://www.siaminter.com/movie/423 」

Chris Moore เป็นศิลปินนักวาดภาพประกอบชาวอังกฤษผู้มีผลงานวาดภาพประกอบนิยายวิทยาศาสตร์มากมาย รวมถึงผลงานของ Philip K. Dick อย่าง We Can Remember It for You Wholesale ที่มีการพูดถึงการส่งย้ายร่างผ่านจิตที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับภาพยนต์ขึ้นหิ้งอย่าง Total Recall หรือ The Matrix หรือแม้แต่การย้ายจิตลงร่างชาวนาวีของ Avatar
ถึงแม้ Chris Moore จะไม่ได้วาดภาพประกอบของฉากร่างจิต แต่กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานของเขามีองค์ประกอบของยานอวกาศบนโลกใหม่ การเดินทางบนดาวอื่นอันแสนลึกลับ ที่เป็นธีมหลักของ Avatar อยู่แล้วด้วยเช่นกัน

Jean Giraud เป็นนักวาดการ์ตูนชาวฝรั่งเศส เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์โลกของเขาโดยยึดจากความปิติยินดี ผลงานของเขาเป็นภาพคอนเซปให้กับภาพยนตร์ไซไฟมากมายเช่น Alien, Tron, The Fifth Element, และ The Abyss ผลงานของเขามีองค์ประกอบของโลกเหนือจินตนาการมากมาย โดยที่เห็นชัดที่สุดก็จะเป็น การขึ้นหลังสัตว์ปีกโบยบินอยู่เหนือดินแดนอันแปลกตาเกินกว่าความเป็นจริง องค์ประกอบเหล่านี้อาจเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างจินตนาการของแพนโดราเช่นกัน

หรือท้ายที่สุดแล้ว แรงบันดาลใจก็มาจากตัวของเราเอง
ตัว James Cameron เองนั้นได้เคยอธิบายถึงแรงบันดาลใจของชาวนาวีไว้ว่า วันหนึ่งแม่ของเขาฝันถึงผู้หญิงตัวสีฟ้าสูง 12 ฟุต ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่เขานำไปวาดภาพประกอบสำหรับโปรเจคภาพยนตร์ไซไฟของเขาที่ไม่ได้สร้างอย่าง Xenogenesis ในปี 1978 ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกในการปรากฏตัวของผู้หญิงตัวสีฟ้าสูง 12 ฟุต (หากไม่นับภาพในฝันของแม่ของเขา) ซึ่งถึงแม้ตัวไอเดียจะถูกพับเก็บไปแต่มันก็ถูกนำกลับมาปัดฝุ่นใหม่จนออกมาเป็นชาวนาวีอันเป็นเอกลักษณ์ที่เราคุ้นเคยกันในที่สุด
อ้างอิง
https://www.illustrationhistory.org/genres/science-fiction
https://www.worldhistory.org/Greek_Sculpture/
https://ew.com/article/2007/01/15/james-cameron-talks-avatar/
https://www-jstor-org.chula.idm.oclc.org/stable/10.5749/mech.10.2015.0209
https://www.mutualart.com/Article/Topographies-of-the-Imagination–Roger-D/AAFA6422D09DDEB4
http://www.chrismooreillustration.co.uk/about/
https://www.looper.com/1037565/the-untold-truth-of-the-navi-from-avatar/
https://www.yumpu.com/en/document/read/11625624/45-page-sworn-declaration-business-insider
http://aodr.org/xml/29251/29251.pdf
https://academic.oup.com/screen/article-abstract/53/4/381/1644161
https://collider.com/avatar-the-way-of-water-concept-art-pandora-ocean-d23-expo/
https://collider.com/avatar-artwork-james-cameron/
https://gulliverstravels.fandom.com/wiki/Laputa