ภายใต้แคมเปญ !! ทำงาน ทำงาน ทำงาน !! และภาพลักษณ์อันแอ็คทีฟราวกับซุปเปอร์ฮีโร่มาร์เวล หรือแข็งแกร่งดั่งแบทแมนผู้มากอบกู้เมืองก็อตแธม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกรุงเทพฯคนล่าสุดเสมือนฮีโร่ผู้มากอบกู้กรุงเทพฯอันซึมเซามาช้านาน ด้วยแนวทางการบริหารอันมีประสิทธิภาพและวิธีคิดที่แตกต่าง หลายคนอาจไม่รู้ว่าชัชชาติก็มีมุมอาร์ตกับเค้าด้วยเหมือนกัน ทีมงาน ArtTank.Media รวบรวมมุมมองถึงแวดวงศิลปะของผู้ว่าฯป้ายแดงมาให้แล้ว ไปติดว้าวกัน…
รัน รัน รัน >>> สตรีท สตรีท สตรีท
ซุปเปอร์ผู้ว่าฯได้สัมภาษณ์กับสื่อ happening ถึงศิลปะไว้ว่า
“ผมเป็นคนชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กก็เลยเอ็นจอย แต่พอได้เห็นงานอาร์ตที่สวยๆ อย่างผมชอบวิ่งพวก city run พอเห็นเป็นสตรีตอาร์ตสวยๆ ก็เข้าไปดู ผมว่ามันเป็น creativity”
อีกทั้งกล่าวในงานทอล์คที่ Mango Art Festival
“ผมชอบวิ่งริมคลองแสนแสบที่มีงานอาร์ตตลอดทาง อย่างพวกกราฟฟิตี้ พวกสตรีทอาร์ตบนกำแพง พอเห็นเป็นสตรีตอาร์ตสวยๆ ก็เข้าไปดู รู้สึกว่าฝีมือศิลปินก็ไม่ธรรมดา และคิดว่าสเปซพวกนี้แหละ ถ้าเราสามารถให้มันเกิดงานศิลปะได้ มันสวยงามที่ว่าพื้นที่รกร้างกลับมาเป็นงานศิลป์ได้”
มิวสิค~แดนซ์~พาเหรด
เมื่ออาร์ตกินความไปถึงดนตรีและการแสดงออกรูปแบบต่างๆ ซึ่งการจัดให้มีดนตรีขับกล่อมในพื้นที่สาธารณะที่ผ่านมาหลายครั้งนับแต่เข้าทำงาน แสดงถึงคุณภาพและความใส่ใจในการจัด(กว่ายุคก่อน)อย่างเห็นได้ชัด ทำให้มีผู้คนมาเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ถือเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดจากความใส่ใจและวิธีการทำงานแนวใหม่จากซุปเปอร์ฮีโร่ผู้ว่าฯของเรา รวมถึงปลดปล่อยอย่างเสรีในการแสดงออกด้วยการลุกขึ้นแดนซ์โชว์สเต็ปเอวพลิ้วพร้อมประชาชนในงาน “ดนตรีในสวน”

เมื่อศิลปะยุคใหม่ดีลกับการยอมรับในความหลากหลายแตกต่าง การร่วมเดินขบวนไพรด์พาเหรดในกิจกรรมบางกอกนฤมิตไพรด์ เป็นสัญลักษณ์สะท้อนถึงทัศนคติแบบหนึ่งของคนอาร์ตๆที่เปิดกว้างและเสรีในความหลากหลายให้กับธงสีรุ้งที่โบกสะบัด ซึ่งซุปเปอร์ฮีโร่กทม.แสดงทัศนะในงานพาเหรดนี้ในไลฟ์สดช่อง matichon tv ไว้ว่า
“บางกอกไพรด์นี่มันเป็นความสวยงามจากการร่วมมือของหลากหลายภาคส่วน วันนี้ผมมาร่วมในฐานะประชาชนคนหนึ่ง … ผมคิดว่ามันเป็นความสวยงามในความแตกต่าง การยอมรับ การใส่ใจเพื่อน เพื่อนที่มีความหลากหลาย ผมว่านี่คือสิ่งที่สวยงาม”
Appreciate อาร์ต = ถอดแนวคิดเดิมๆ + ยอมรับในความแตกต่าง
“ทุกคนมีอิสระในการเต้นในการแสดงออก มีครีเอทีฟขึ้นมาจากการถอดแนวคิดเดิมๆ … พวก Regulations ต่างๆนี่แหละ ที่มันจำกัดครีเอทีฟของเรา เราต้องหาการ collaborate กับเอกชนให้มากขึ้น … ผมเชื่อว่าการที่มีการ appreciate อาร์ตนี่ ผมว่า มันเกิดประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่แน่นอนเลย ผมว่ามันทำให้เรายอมรับความแตกต่างกันได้มากขึ้นนะ เพราะในอาร์ตเดียวกันนี่ อาจจะมีคนบอกว่าไม่สวย อีกคนบอกว่าสวย มันทำให้เกิดไดอะล็อคของความขัดแย้ง ซึ่งมันไม่ใช่ binary ซึ่งสวยหรือไม่สวย แต่มันคือสเปคตรัมเกรย์สเกลที่มีความแตกต่างกัน การ appreciate อาร์ตนี่ มันทำให้เรารู้สึกถึงความแตกต่าง การยอมรับในความไม่เหมือนกันได้”
ซุปเปอร์ผู้ว่าฯได้แสดงความเห็นไว้ในงานทอล์คที่ Mango Art Festival
บางกอกอาร์ตเฟสติวัล เอาให้อยู่ใน World Calendar ไปเลย
หนึ่งในนโยบายของซุปเปอร์ผู้ว่าฯของเรา คือเรื่องการจัด 12 เทศกาล ตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ ที่เกี่ยวข้องกับสายอาร์ตหน่อยก็อย่างเช่น เทศกาลดนตรีในสวน เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ซึ่งก็จัดกันอยู่แล้ว ตอนหนึ่งในงานทอล์คที่ Mango Art Festival ซุปเปอร์ผู้ว่าฯได้กล่าวถึงการจัดอาร์ตเฟสติวัลในกรุงเทพฯไว้ว่า
“เราน่าจะจัดอาร์ตเฟสติวัลด้วย กรุงเทพฯก็น่าจัด แล้วจัดให้ดีให้ไปอยู่ใน Calendar ของโลก แบบที่ว่าเดือนนี้ต้องมากรุงเทพฯเพื่อมาดูอาร์ตเฟสติวัล ให้มันอยู่ใน World Map ให้อยู่ใน World Calendar เลย สุดท้ายแล้วมันไม่ได้กระตุ้นแค่งานอาร์ต มันกระตุ้นโรงแรม มันกระตุ้นหาบเร่แผงลอย ซับพลายเชนมันลึกมาก และมันจะอยู่ยาว ไม่ใช่แค่จัดอีเว้นท์วันเดียวแบบเผาๆไป รัฐต้องหาแนวร่วมที่มีความรู้เรื่องนี้ แล้วก็อย่าเป็นแค่งานออร์แกไนเซอร์ คือให้ศิลปินเป็น stakeholder จริงๆ มีส่วนร่วมในการจัดงาน”
ไม่ง้ออาชีพในฝัน ศิลปะช่วยผลักดัน โลกอนาคตเด็กครีเอทงานกันเอง
“…เด็กสมัยผมเนี่ย เราจะวิ่งหางาน แต่เด็กสมัยใหม่สร้างงานเองแล้ว พอเด็กมันครีเอตงานเอง เพราะมันคือครีเอทีฟ มันคืออาร์ต ฉะนั้นเราต้องมีระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เหมาะที่จะให้เด็กรุ่นใหม่เขาสามารถเป็นดอกไม้ที่ผลิบานได้…” ผู้ว่าฯฮีโร่กล่าวกับสื่อ happening
“…เรื่องสอนศิลปะให้กับเด็กและศิลปะในโรงเรียน ผมว่า Weekend Program สำคัญ คือโรงเรียนเราปิดเสาร์อาทิตย์ แต่โรงเรียนน่ะมีทุกอย่างครบเหมือนโอเอซิสอยู่ในชุมชน แต่อย่าเอาครูมาสอนนะ เอาเอกชนนี่แหละ เอาฝ่ายอาร์ต ให้เอาโรงเรียนตอนเสาร์อาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลาง มี Resource เสาร์อาทิตย์เปิดพื้นที่ให้เค้ามาใช้พื้นที่ได้…” ฮีโร่ชัชชาติแสดงความเห็นในงานทอล์คที่ Mango Art Festival
มีที่ดิน อย่าเอาไปปลูกกล้วย เอามาทำให้เป็นอาร์ตสิ
“เรื่องของกฎหมายใหม่เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถ้าเอาที่มาให้กทม.ทำเป็นที่สาธารณะก็จะไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ไม่ต้องเลี่ยงไปปลูกอ้อย ปลูกข้าวโพด กล้วย แต่เอาที่มาให้กทม.ทำเป็น Public Space แสดงงานอาร์ต เพราะกฎหมายเขียนไว้เลยว่าเอาไปทำเป็น Public Space จะไม่ต้องเสียภาษี … ผังเมืองเป็นเรื่องใหญ่ ผังเมืองไม่ได้บอกว่า ควรจะมีอาร์ตมิวเซียมอยู่ตรงนี้ ผังเมืองควรจะมีพื้นที่ครีเอทีฟ อาจต้องมีวิธีคิดใหม่ การจัดรูปที่ดิน การเอารวมแปลงที่ดินมา เจ้าของยังคงมี Ownershipอยู่ ตรงนี้ทำมิวเซียม ตรงนี้ทำที่พัก ตรงนี้ทำออฟฟิศ แล้วประโยชน์มันจะมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะจะมีองค์ประกอบครบ สุดท้ายเจ้าของที่ดินก็สามารถจะแชร์ผลประโยชน์ตรงนี้ได้ รัฐไม่ต้องเสียเงินเวนคืน คิดว่าก็ไม่ได้แก้ง่าย แต่ก็พอมีทิศทาง เพราะเมืองอื่นเค้าทำไว้แล้วเหมือนกัน” ซุปเปอร์ผู้ว่าฯกล่าวในงานทอล์คที่ Mango Art Festival
ครีเอทีฟไม่ตีบตัน ผลักดันเสด-ถะ-กิดสร้างสรรค์
“…Creative Economy หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากความคิดสร้างสรรค์ หลายอย่างที่สามารถครีเอทขึ้นมา และเป็นสิ่งที่มีมูลค่าได้ … คนที่มีความสามารถทั้งหลายนั่นแหละเป็นผู้สร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ถ้าเมืองไม่มี Ecosystem ที่ดึงคนเก่งเอาไว้ได้ สุดท้ายเมืองมันจะตาย และถ้ามันไม่มี Creative Economy ก็จะกลายเป็น Old Economy … ถ้าเราไม่สามารถแข่งขันตรงนี้ได้ อนาคตเราอยู่ยาก … ทำยังไงจะมีระบบนิเวศที่จะดึงคนเก่ง คนเก่งเป็นหัวใจในการสร้างCreative Economy” ผู้ว่าฯ มาร์เวลได้แสดงวิสัยทัศน์ในงานทอล์คที่ Mango Art Festival
อีกทั้งให้สัมภาษณ์กับสื่อ happening ไว้ด้วยอีกว่า
“…นอกจากแง่ของจรรโลงใจแล้ว งานอาร์ตมันก็มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ (Economy Value) ตรงนี้มันคือส่วนหนึ่งของ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)นะ คือมันสร้างจากความที่ไม่มีอะไรขึ้นมา ซึ่งผมว่าสิ่งนี้คือตัวที่จะขับเคลื่อนเมืองในอนาคตเลย ผมว่าเรื่อง Creative Economy ซึ่งอาร์ตก็เป็นส่วนหนึ่ง มันก็เป็นตัวสำคัญที่จะต้องให้ความสำคัญเราจะเพิกเฉยไม่ได้แล้วแหละ ทั้งในแง่ของความจรรโลงใจ ทั้งในแง่ความจำเป็นในแง่ของเศรษฐกิจ”

สื่อ VOICE TV ได้ลงวิสัยทัศน์ของซุปเปอร์ชัชชาติในกิจกรรม Museum Talk ที่มิวเซียมสยามไว้ว่า
“การไปเดินห้างไม่ได้ช่วยอะไรเลย มันเป็นปัจเจก เวลาเราไปเดินห้าง เราไม่เคยไปคุยกับคนในห้าง เราไม่มีการแลกเปลี่ยนคุณค่าอะไรกัน นอกจากไปเดินตากแอร์กับไปกินข้าว มันไม่ใช่โจทย์ที่เมืองต้องการ เมืองต้องการพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพอย่าง พื้นที่สีเขียว, มิวเซียม, ห้องสมุด, Co-Working Space, Art Gallery, สนามเด็กเล่น, สนามกีฬา และเราไม่ได้ต้องการแค่พื้นที่เดียว เราต้องการในทุกแขวงทุกเขตของกรุงเทพ”
ตอนหนึ่งของ “LIVE! ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลงพื้นที่ดูงานเทศกาลศิลปะชุมชนพื้นที่สร้างสรรค์ เยาวราช” ในช่อง VOICE TV
“อนาคตกรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คนรุ่นใหม่สามารถสร้างมูลค่างานจากความคิดสร้างสรรค์ได้ คนรุ่นใหม่อาจไม่ได้ทำงานประจำแล้ว เค้าอาจจะสร้างงานด้วยตัวเองได้ ทีนี้การสร้างงานมันต้องมีพื้นที่ที่สามารถแสดงออกได้ พื้นที่สร้างสรรค์ที่มีคุณค่าแบบนี้ ควรมีกระจายทั่วกรุงเทพฯ”
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงจะเข้าถึงมุมมองอันโมเดิร์นของซุปเปอร์พ่อเมืองกรุงเทพฯที่น่าเอามาบริหารด้านอาร์ตของกรุงเทพฯให้ปังได้ และทำให้อนาคตของกรุงเทพฯสดใสไชโย กลายเป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้จริง
อ้างอิง
- ชัชชาติกับศิลปะ https://happeningandfriends.com/article-detail/388?lang=th
- ‘ชัชชาติ’ ร่วมเดินขบวนไพรด์พาเหรด ครั้งแรกใน กทม. ยอมรับความ
แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก https://www.thaipost.net/general-news/155604/
- เปิดวิสัยทัศน์ ‘ชัชชาติ’ ต่อให้เป็นเมืองเทพสร้าง แต่ถ้าคนไม่แฮปปี้ก็ไม่มีประโยชน์ https://voicetv.co.th/read/r9CNcnpxw
- นโยบาย 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ https://www.chadchart.com/policy/ 621740874e43cd8b4760bc7c
- LIVE! ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลงพื้นที่ดูงานเทศกาลศิลปะชุมชน พื้นที่ สร้างสรรค์ เยาวราช
- ผู้ว่าฯ ชัชชาติ แดนซ์เต็มที่พร้อมประชาชน กับกิจกรรมดนตรีในสวน ครั้งแรก https://thestandard.co/chadchart-dance-with-people-at- music-in-the-park/
- Twitter ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ https://twitter.com/chadchart_trip
- ‘THAILAND AND ARTSCAPE AND ITS FUTURE’ Art Talkในงาน Mango Art Festival https://www.facebook.com/MangoArtFestival/videos/975154916507230/
- matichon tv Live: “ชัชชาติ”ผู้ว่าฯกทม.ร่วมงานเทศกาล Pride Month