top of page
รูปภาพนักเขียนKaew

9 งานอาร์ต 9 ความรัก สำรวจทัศนะของความรักผ่านงานศิลปะทั่วโลก

อัปเดตเมื่อ 18 เม.ย. 2566

Tank Highlight


ความรักและศิลปะนั้นอยู่คู่กันมาช้านาน เหมือนดั่งกวีที่จดบันทึกความรักของเขาผ่านไดอารี่ให้ทุกคนได้อ่านกัน ศิลปินในแต่ละยุคนั้นก็สื่อสารความรักของตนเองออกมาในความหมายต่างๆมากมาย ทั้งสุขทั้งเศร้า ทั้งสื่อโดยตรงและแฝงความหมายที่ลึกซึ้ง แต่กระนั้นก็ยังคงเป็นความรัก ดังนั้นเราจะพาทุกท่านมาเยี่ยมชม 9 ธีมความรักจากศิลปินหลากหลายท่าน ที่ตีความออกมาแตกต่างกัน ให้ทุกท่านลองออกจากห้วงความรักของตน มาดูเรื่องราวความรักของผู้อื่นผ่านงานศิลปะกันความรักต้องห้าม



ผลงาน “The Kiss” เป็นผลงานของ Auguste Rodin ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากมหากาพย์ Divine Comedy วรรณกรรมอิตาเลียนอมตะของ Dante ที่พูดถึงการท่องไปในนรกของคริสตศาสนาในทรรศนะของผู้แต่ง ที่ในตอนหนึ่งพูดถึงรักต้องห้ามระหว่าง Paolo และ Francesca คู่รักที่ต้องท่องไปในนรกชั่วกัลป์ชั่วกัลป์ เนื่องจากทั้งคู่กระทำการผิดประเวณีก่อนที่จะถูกสามีของ Francesca สังหาร ศิลปินได้สร้างผลงานประติมากรรมออกมาในรูปแบบของการจูบที่มีสัมผัสระหว่างกันอันน้อยนิด แสดงถึงความรักอันต้องห้ามของทั้งคู่นั่นเอง



ความรักบนผนังวัด


ผลงานชิ้นประวัติศาสตร์อย่าง “ปู่ม่านย่าม่าน” จากศิลปิน หนานบัวผัน ที่เขียนในปี ค.ศ.1867-1874 โดยเป็นภาพชายหญิงคู่หนึ่งกำลังกระซิบสนทนา มีชื่อเสียงว่าเป็น “ภาพหนุ่มกระซิบบันลือโลก” ได้มีการวิเคราะห์ถึงที่มาของชื่อไว้ว่า


"ข้อความที่ เขียนกำกับว่า ปู่ม่าน ย่าม่าน หมายถึงว่า เขาเรียกผู้ชายพม่า ผู้หญิงพม่าคู่นี้ เป็นนัย เป็นสามีภรรยา แล้วการเกาะไหล่กันเป็นธรรมชาติของผู้ชายผู้หญิงที่เป็นสามีภรรยา ถ้าเป็นหนุ่มสาว ถูกเนื้อต้องตัวไม่ได้ และรูปลักษณะการแต่งกายชี้ชัดไปอีกสอดคล้องกับคำว่า ปู่ม่าน ย่าม่าน ม่านคือพม่า ปู่นี่คือผู้ชาย พ้นวัยเด็กผู้ชายเรียกปู่ พ้นวัยเด็กผู้หญิงเรียกย่า ซึ่งที่จริงออกเสียง "ง่า" ไม่ใช่ปู่ย่าตายาย โดย หนานบัวผัน เป็นศิลปินผู้เขียนจิตรกรรมประวัติศาสตร์ทั้งที่วัดหนองบัว และวัดภูมินทร์"


ซึ่งบ้างก็คาดว่าตัวของหนานบัวผันที่วาดตัวเองลงไป แต่กระนั้นก็มีเสียงคัดค้านเพราะศิลปินเป็นชาวไทลื้อไม่ใช่ชาวพม่าอย่างที่เห็นในภาพ ซึ่งในภาพนั้นเป็นชาวพม่าที่มีรอยสักเต็มตัวและโพกหัว คู่กับสตรีในภาพที่แต่งกายแบบไทลื้อ และการกระซิบก็มิใช่การเล้าโลมกันอย่างหญิงสาววัยรุ่นแต่เป็นการกระซิบกันระหว่างคู่สามีภรรยา

อีกด้วย ภาพนี้อยู่บนฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน




ความรักของเมีย(หรือแม่)


หลายท่านอาจมีประสบการณ์ที่คู่รักของท่านทำตัวเป็นเด็กจนคุณรู้สึกว่าเราเป็นแม่ของเขารึเปล่า? Frida Kahlo ก็มีประสบการณ์เดียวกันดังเช่นในผลงาน “The Love Embrace of the Universe, the Earth, Myself, Diego and Senor Xolotl” ที่วาดขึ้นในปี 1949 ที่ Frida ได้เล่าถึงประสบการณ์ของเธอกับสามี Diego Rivera ที่เธอได้กล่าวไว้ถึงการที่ต้องดูแลเขาเหมือนเด็กอ่อนที่ต้องการการดูแลตลอดเวลาจนเหมือนลูก การที่สามีของเธอหย่อนกางเกงในทิ้งไว้กลางบ้านหรือตักไอติมไปกินสามสกู๊ปใหญ่ๆ แต่นั่นก็ทำให้เธออดขำไม่ได้กับพฤติกรรมเด็กๆของเขา Frida ยังได้กล่าวไว้ว่า “ในสตรีทั้งปวงคงมีแค่ตัวฉันที่อยากจะโอบกอดเขาไว้เหมือนที่ทำกับทารกแรกเกิด” ซึ่งก็คงจะทำให้เข้าใจถึงความหมายของชิ้นงานที่เป็นพระแม่ธรณีของเม็กซิกันหลั่งน้ำนมจากเลือด และสามีของเธอในสภาพทารกอุ้มต้นอะกาเวไว้ ซึ่งมีความหมายโดยนัยถึงองคชาติหรืออัจริยภาพของเขาแล้วแต่จะตีความ และตาที่สามที่เบิกโพลงบนหน้าผากของ Diego ที่ Frida แฝงความประชดประชันถึงความเป็นผู้หยั่งรู้ในภูมิปัญญา และวาจาอันศักดิ์สิทธิ์ของเขา ซึ่งทั้งหมดนั้นถูกโอบอุ้มไว้ด้วยพระแม่ธรณีอีกที


ความรักที่ถูกปิดกั้น


เรื่องของการจูบนั้นก็มีได้หลายความรู้สึก แต่แน่นอนความรักย่อมมีความขมขื่น งานนี้ก็เช่นกัน

ภาพ “The Lovers” ของ Rene Magritte ในปี 1928 นั้นอาจต่างกับภาพจูบอื่นๆที่แฝงความอีโรติกเอาไว้ ภาพนี้ถูกนำเสนอโดยเป็นการจูบที่ชายหญิงทั้งคู่ถูกผ้าขาวคลุมศรีษะไว้ ทำให้ไม่สามารถที่จะสื่อสารหรือสัมผัสกันได้ การที่มีผ้าขาวที่เหมือนผ้าห่อศพมาคั่นกลางระหว่างทั้งคู่ไปตลอดกาลนั้นสร้างบรรยากาศที่น่าพิศวง บ้างก็ว่าภาพนี้สื่อความหมายของการจูบของความรักที่ไม่สมหวัง หรือบ้างก็ว่าหมายถึงความรักอันมืดบอด หรือแม้แต่การที่คนเรารักกันนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเห็นตัวซึ่งกันและกัน หากแต่เป็นความโหยหาระหว่างกันก็เป็นได้




ความรักนอกผนังวัด


ผลงานศิลปินเขียน ยิ้มศิริ ประติมากรรมที่พัฒนาแนวความคิดจากเดิมที่มีการสร้างพระพุทธรูปในวัดและ ประติมากรรมแนวเหมือนจริงในวัง คลี่คลายสู่คุณสมบัติแห่งความเป็นศิลปะสมัยใหม่ของทั้งไทยและสากลมากขึ้น แม้ว่าจะยังคงลักษณะเด่นอยู่ที่ความเหมือนจริง แต่ก็มีเนื้อหาใหม่ เช่น การนำภาพชีวิตของคนธรรมดาสามัญ รูปนักดนตรี นางรำ เด็ก และสัตว์ โดยมีการผสมผสานแนวใหม่และเก่ามาปรับให้เป็นรูปแบบเฉพาะตัว จึงนับเป็นทศวรรษแรกแห่งประติมากรรมสมัยใหม่ของไทย

ประติมากรรม ”โลมนาง” สะท้อนภาพของการเกี้ยวพาราสีและการแสดงความรักระหว่างชายหญิงแบบไทย เส้นของรูปทรงในงานมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันอย่างงดงาม



ความรักที่มีต่อลูกสาว


ต่อมาเป็นผลงานที่คุ้นเคยของคนไทยอย่าง Alex Face กับตัวละครน้องสามตาใส่ชุดกระต่าย ที่ได้ต้นแบบมาจากลูกสาวของศิลปิน กับความห่วงใยต่อลูกสาว ที่แสดงออกมาในรูปแบบของการสวมชุดสัตว์ต่างๆโดยเฉพาะกระต่ายที่เป็นเสมือนสัตว์ที่อ่อนแอกับโลกอันโหดร้ายที่พร้อมจะทำร้ายได้ทุกเมื่อ อย่างในภาพเป็นตัวอย่างหนึ่งที่น้องถูกมัดไว้ด้วยลูกโป่งรูปหัวใจ เหมือนดั่งถูกพันธนาการเอาไว้ด้วยนั่นเอง






ความรักมีให้ แต่ไม่ไปต่อ


>ชั้นรักคุณนะ แต่….


หากคุณได้รับข้อความนี้ในมือถือก็คงจะสะดุ้งกันไม่น้อย ซึ่งก็อาจะเป็นความรู้สึกเดียวกับตัวละครในชุดภาพวาดแฟนตาซีดราม่าของ Roy Lichtenstein ในภาพวาดสีน้ำมันและอะคริลิคบนผืนผ้าอย่าง “Oh, Jeff...I Love You, Too...But..” ที่เป็นภาพของหญิงสาวโทรบอกกับแฟนหนุ่มของเธอซึ่งเป็นธีมหลักของภาพชุดนี้

ที่เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างหญิงสาวผมบลอนด์และแฟนหนุ่มนิสัยเสียที่นำโชคร้ายมาให้ชีวิต ภาพแนวสีสดใสและบอลลูนคำพูดนั้นเป็นเอกลักษณ์ของศิลปินที่เซ็ทหลักไมล์ใหม่ให้กับวงการป๊อปอาร์ตและคอมมิคเป็นอย่างมาก




ความรักและการเฉลิมฉลองก่อนจากลา


ในช่วงปี 1992 ซึ่งเป็นช่วงที่โรคเบาหวานของเขานั้นเริ่มลุกลามอย่างหนัก Dan Flavin ได้สร้างผลงานชิ้นสุดท้ายของเขา “untitled” (to Tracy, to celebrate the love of a lifetime) เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบการแต่งงานกับภรรยาชื่อTracy Harris ของเขา ซึ่งเป็นงาน Lighting situation ณ พิพิธภัณฑ์ Guggenheim เป็นการจัดแสงบริเวณโถงบันไดวนของพิพิธภัณฑ์ด้วยแสงสีเขียว น้ำเงิน ม่วง และส้ม และเขาก็ได้จัด ณ ห้องโถงของพิพิธภัณฑ์นั้นเอง ไม่กี่ปีหลังจากงานนั้นศิลปินต้องทุกข์ทนทรมาณจากการต้องถูกตัดอวัยวะจากโรคเบาหวาน ก่อนที่จะเสียชีวิตในปี 1996


ผลงานของเขานั้นขึ้นชื่อในเรื่องของการสร้าง “ความตระหนักอย่าฉับพลันต่อปรากฏการณ์ในพื้นที่ปิด” (an acute awareness of the phenomenology of rooms) ซึ่งเป็นการปฏิเสธต่อการสร้างผลงานในสตูดิโอที่สามารถควบคุมความรู้สึกและสถานการณ์ได้ง่ายกว่า




ความรักไม่จำกัดเพศ


ผลงานของ Gongkan อย่าง “Restoration” ซึ่งถูกจัดแสดงในนิทรรศการ For someone who hates the rainbow ณ นิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พูดถึงสิทธิที่จะได้รักและถูกรักของทุกคน และส่งข้อความถึงผู้ที่เกลียดสายรุ้งและบางกลุ่มที่กีดกั้นให้ทุกความสัมพันธ์ได้รักกันอย่างเท่าเทียม ซึ่งศิลปินก็หวังว่าจะส่งแรงกระเพื่อมถึงทุกคนว่ารักนั้นมาในทุกรูปแบบอีกด้วย ในภาพนั้นก็ยังสื่อถึงการโอบอุ้มของชายสองคนที่โผล่ออกมาจากหลุมดำ ซึ่งอาจจะหมายถึงการก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดของความรักนั้นอีกด้วย


———————- สามารถติดตามคอนเทนต์ของเราเพิ่มเติม ได้ที่ : https://arttank.media/ หรือ ส่งข้อมูลข่าวสารให้เราประชาสัมพันธ์ได้ที่ media@arttankgroup.co.th . Follow us here for more contents: https://arttank.media/ Send us your Art news for PR here: media@arttankgroup.co.th

Comments


bottom of page