ว่าไงสายอาร์ต หลายๆ คนอาจจะเคยรู้จักหรือคุ้นเคยกับมูลนิธิหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะหลายๆ แห่ง วันนี้เราได้รับความอนุเคราะห์จากศิลปินนักเคลื่อนไหวทางสังคมท่านสำคัญ มาเล่าถึงมูลนิธิที่ใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางในการดำเนินการและมีศิลปินเป็นผู้ขับเคลื่อน ได้แก่ มูลนิธิศิลปสมัย ที่ก่อตั้งและดำเนินงานโดย คุณวสันต์ สิทธิเขตต์ ที่วันนี้เราจะได้มาทำความรู้จักกัน!!
มูลนิธิศิลปสมัย เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการใช้ศิลปะเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคม สิ่งแวดล้อม ชุมชน และศิลปะเด็กๆ ที่วสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินนักเคลื่อนไหวทางสังคม ทราย-วรรณพร และกลุ่มศิลปินในเครือข่ายได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้การประสานงาน การดำเนินกิจกรรมมีความเป็นอิสระ มีเงินทุนสนับสนุน เพื่อให้ศิลปินทั้งเก่าและใหม่ได้เรียนรู้และสร้างผลงานเพื่อสื่อสารให้คนภายนอกได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม สังคมและโลกใบนี้ ผ่านงานศิลปะอันหลากหลาย เพื่อการสะดวกต่อการระดมทุน การจัดการกิจกรรมเพื่อดำเนินการด้านต่างๆ จึงเกิดเป็นมูลนิธิศิลปสมัยขึ้นมา
เดิมมูลนิธิศิลปสมัยจะใช้ชื่อว่า มูลนิธิศิลปสใหม่ ที่มาจาก ร่วมสมัย+ใหม่ แต่เพราะคำว่าสใหม่ ไม่มีในโลก จึงไม่สามารถจัดทะเบียนด้วยชื่อนี้ได้ จนกลายมาเป็น มูลนิธิศิลปสมัย หรือ ใช้ภาษาอังกฤษว่า Avant-Garde Art Foundation ขึ้น โดยมีกิจกรรมแรกที่เกิดขึ้นคือ การทำศิลปะเด็กที่หมู่บ้านบางกลอย เพื่อจัดกิจกรรมกับเด็กกะเหรี่ยงที่ถูกย้ายพื้นที่ ให้กำลังใจคนในชุมชน โดยมีศิลปินกลุ่มหนึ่งเข้าไปทำงานร่วมกับเด็กและคนในชุมชน
จุดแรกเริ่มของการสร้างงานเพื่อสังคมของวสันต์ เริ่มตั้งแต่ช่วงปี 2518 ที่มองเห็นว่าศิลปะนั้น เป็นสื่อที่สามารถมีส่วนช่วยในการเคลื่อนไหวทางสังคมได้ ในช่วงเข้ากรุงเทพฯ ใหม่ๆ วสันต์เชื่อว่า ถ้าเราทำงานหนัก เราจะเป็นอิสระ เหมือนนักดนตรีก็ต้องทำงานหนัก อยากเป็นจิตรกรก็ต้องวาดรูปหนัก จะเป็นนักเขียนก็ต้องอ่านหนังสือมากเพื่อจะได้รู้ท่วงทำนองการเขียน วสันต์จึงทำงานหนัก ฝึกฝนให้มาก เพื่อที่จะอยากเป็นอิสระ แต่เมื่อเป็นอิสระแล้วก็เกิดตั้งคำถามกับตนเองว่า เราทำศิลปะไปเพื่ออะไร เราอยู่ตอนนี้มีส่วนช่วยอะไรต่อสังคมได้บ้าง ตอนเด็กๆ คิดว่าถ้าเราเป็นจิตรกร เราจะวาดรูปโลกนี้ใหม่ หรือถ้าเป็นประติมากร เราจะสลักโลกใบนี้ใหม่เลย เราคิดใหญ่ตอนเป็นเด็ก โตขึ้นก็เรียนรู้ว่าเราก็ทำได้เท่าที่เราสามารถจะทำ ช่วงที่วสันต์เรียนจบก็พบว่า งานของตนเองนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องและมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางสังคมในหลายทาง เช่น เรื่องเรียกร้องหอศิลป์กรุงเทพ ที่วสันต์เป็นแกนนำในการวาดรูป 4,000 รูป เพื่อลำเลียงจากแยกปทุมวันไปศาลาว่าการกรุงเทพ ที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียกร้องจนเกิดเป็นหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครหรือ BACC จนถึงการต่อสู้เพื่อศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม
ในช่วงสมัยเรียน วสันต์เคยให้คำแนะนำกับรุ่นน้องว่า เราเรียนปีเดียวก็เท่ากับเราจบปริญญาเอกแล้ว เพราะเราวาดรูปหนักมาก ฝึกฝนหนักมาก อ่านหนังสือหลายเล่มมาก เพื่อเข้าใจชีวิต รู้จักสังคม และต้องการทำงานศิลปะที่มีความคิด มีความหมายที่จะสื่อสาร เพราะศิลปะคือการสื่อสารและขับเคลื่อนได้จริง ต่อมาจึงมีการตั้งกลุ่มศิลปะเพื่อสังคมขึ้นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มอุกกาบาต เพื่อแสดงศิลปะข้างถนน เพื่อตั้งคำถามกับสังคม กลุ่มครูเทพนอกคอก เพื่อตั้งคำถามของโลกที่ว้าวุ่น เปลี่ยนแปลง เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว หรือการที่วสันต์ลงพื้นที่แก่งเสือเต้น เพื่อที่จะเรียนรู้พี่น้องที่มีชีวิตเพื่อปกป้องป่าสักทอง ผืนสุดท้ายของประเทศไทย ในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ศิลปินจะลงพื้นที่ร่วมทำงานศิลปะกับพี่น้องปราญช์ชาวบ้าน การที่พาศิลปินลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ เช่น การวาดรูปชาวประมง สนับสนุนการไม่เอาถ่านหิน เพื่อเก็บทรัพยากรให้เป็นแหล่งอาหารที่สะอาด บทบาทเหล่านี้จึงเกิดความคิดให้วสันต์ตั้งมูลนิธิขึ้นมา ซึ่งนอกจากการทำงานในประเทศแล้ว วสันต์ยังถูกรับเชิญไปต่างประเทศ พร้อมทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายกับศิลปินต่างประเทศผ่านมูลนิธิเอง โดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งก่อนหน้าที่จะเกิดเป็นมูลนิธิ ค่าดำเนินกิจกรรมทั้งหมดเกิดจากการระดมทุนทั้งจากการจำหน่ายผลงานของวสันต์เอง เพื่อนศิลปินคนอื่นๆ ที่มีน้ำใจเข้าร่วม น้ำใจของพี่น้องศิลปิน แต่มูลนิธิคือการมีส่วนร่วม เหมือนการต่อสู้เพื่อหอศิลป์ ไม่ใช่ว่าใครคนใดคนหนึ่ง หรือเงินจากใครคนใดคนหนึ่ง พลังที่มาจากศิลปินอาจไม่ใช่เงิน แต่คือฝีมือ ความศรัทธาต่อศิลปะ เมื่อมีการระดมทุนก็จะได้เห็นน้ำใจที่หลั่งไหลกันมา
จุดประสงค์ของมูลนิธิคือการระดมทุนสำหรับศิลปินรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือให้ความช่วยเหลือเพื่อนศิลปินอิสระที่ป่วย ถ้าเป็นมูลนิธิจะง่ายขึ้นในการระดมทุน แต่มูลนิธิไม่ได้เป็นสังคมสงเคราะห์ เพราะเป้าหมายคือการทำกิจกรรมศิลปะกับเยาวชน กับเพื่อนศิลปินด้วยกัน เพื่อช่วยเหลือกัน ศิลปินอิสระที่ไม่มีใครจัดการ ไม่ได้อยู่ในสังกัดไหน ก็จะช่วยเหลือ สนับสนุนกิจกรรมของศิลปิน ทดลองงานศิลปะร่วมสมัยใหม่ๆ เชิญศิลปินนานาชาติเข้ามาแลกเปลี่ยน วสันต์เชื่อว่า คนสามัญที่เป็นศิลปินมีประสบการณ์มาก เพราะฉะนั้นการมาพบปะเพื่อแลกเปลี่ยน วัฒนธรรม เรียนรู้ มีค่ามากสำหรับโลกสมัยใหม่ เราเรียนรู้โลกมาจากอินเทอร์เน็ต แต่การมาสัมผัสคนจริง มีพลวัตในการเปลี่ยนแปลง ให้รู้สึกถึงโลกว่ามันน่าอยู่มากขึ้น เราอาจจะตระหนกกับโลกร้อน ไฟป่า ตระหนกกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ถึงไม่อยากจะหายใจก็ต้องหายใจ เพราะถึงจะสกปรกแค่ไหนก็จะต้องอยู่ แต่เราอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ได้หรือไม่ งานศิลปะจึงเปรียบกับการบันทึกยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวต่างๆ ประเด็นต่างๆ สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ โลกสะอาด น้ำสะอาด ถึงโลกจะเปลี่ยนแปลงแต่ศิลปินเองก็อยากปลุกจิตสำนึกให้คนเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น
วสันต์ สิทธิเขตต์ ให้คำจำกัดตัวเองว่า ตนเป็นศิลปินนักเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นกวี นักเขียน เป็น Performance ทำวิดีโออาร์ตนั้นคือความหลากหลาย โดยมีเป้าหมายเดียวคือการสื่อสารให้สังคมได้เข้าใจโลกที่เราอยู่ แล้วตั้งคำถามว่าคุณจะอยู่กับมัน คุณจะคิดอะไร กระทำอะไรต่อโลก อยากให้คนในโลกคิดเอง คิดเป็น ตัดสินใจด้วยตัวเอง ถ้าตัดสินใจด้วยตัวเองได้ นั่นคือความหมายของการมีชีวิตอยู่ของวสันต์
ผลงานของวสันต์เป็นแนว Expressionism คิดแปลก แตกต่าง วสันต์มองว่าสังคมไทยมีอะไรไม่พูดตรงๆ สังคมไทยชอบนินทาลับหลัง ไม่กล้าที่จะพูดตรง งานศิลปะควรที่จะเปิดเผย เพื่อให้คนกล้าที่จะพูด ไม่ว่าจะเป็นรูปคนแก้ผ้า เปลือย กามกับอำนาจ เพื่อเปิดโปงความเป็นมนุษย์ สันดานดิบของมนุษย์ที่เป็นอยู่ หรือการเปิดเปลือยตัวเอง ความแปลกหน้า ความเดียวดาย ความเหงา ความทุกข์สาหัสที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งมีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ วสันต์กล่าวว่า “ผมคิดว่ามนุษย์ก็โดดเดี่ยว ความเหงาต้องมีกันทุกคน แล้วมนุษย์แปลกหน้าได้อย่างไร” เพื่อสร้างประเด็นคำถามในการสร้างงานของตัวเอง หรือการนำเอาปัจจัยภายนอก สร้างออกมาเป็นงาน บางทีก็ค่อนข้างรุนแรง บางงานก็ถูกแบน ถูกยกออกจากนิทรรศการ ซึ่งบางทีวสันต์ตั้งใจให้มันเกิดการตั้งคำถามในงานศิลปะ กับสังคม ชุมชน ในบางครั้งวสันต์บอกว่า ถึงแม้ว่าในหัวจะคิดแรงแค่ไหน บ้าแค่ไหนก็ได้ แต่ถ้าออกไปเป็นศิลปะแล้ว มันคือการที่เราไปทดสอบว่าเราคิดอะไร สังคมคิดอะไร เพื่อตั้งคำถามและท้าทาย แต่เราก็ต้องพร้อมที่จะต้อนรับการตอบโต้ที่ ซึ่งสังคม การเมือง เราไม่ได้ด้อยค่าความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ของคนมีอำนาจ แต่เราแค่ต้องการจะเปลือยอำนาจ คนที่มีอำนาจบางครั้งก็น่าสงสาร น่าเวทนา น่าขำ ใครๆ ก็กลัว หนังตะลึงที่จัดแสดงที่ BACC ก็เป็นสื่อหนึ่ง สื่อบางอย่างก็ใช้ได้สำหรับเรื่องบางเรื่องที่เหมาะสม หนังตะลึงตัวหนึ่งสามารถเล่าเรื่องได้ครบ จากประสบการณ์ และบทสนทนาระหว่างศิลปินกับผู้ชมได้เลย ชิ้นงานของเราก็มีหน้าที่แบบนี้
.
ทางมูลนิธิศิลปสมัยจะมีการระดมทุนอีกครั้ง ผ่านการประมูลงานศิลปะของเพื่อนพี่น้องศิลปิน เพื่อเจตนารมณ์ในการส่งเสริมและสนับสนุนงานศิลปะ ทั้งด้านการศึกษา กระตุ้นความสนใจด้านศิลปะแก่ประชาชนทั่วไป จากการเล็งเห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของงานศิลป์ สร้างสรรค์พื้นที่สำหรับศิลปินได้ใช้แสดงผลงาน และยังเป็นการสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ได้มีโอกาสสร้างผลงานและมีพื้นที่ในการจัดแสดงแก่สาธารณชน โดยงานจะจัดขึ้นที่ Iconsiam ชั้น 8 ในวันที่ 13-21 พฤษภาคม 2566 สามารถติดตามรายละเอียดได้จาก https://bangkokartauction.com/th/ และ https://www.facebook.com/Avantgardeartfoundation
.
.
ขอบคุณรูปภาพจาก มูลนิธิศิลปสมัย Avant-garde Art Foundation
__________
สามารถติดตามคอนเทนต์ของเราเพิ่มเติม ได้ที่ : https://arttank.media/
หรือ ส่งข้อมูลข่าวสารให้เราประชาสัมพันธ์ได้ที่ media@arttankgroup.co.th
.
Follow us here for more contents: https://arttank.media/
Send us your Art news for PR here: media@arttankgroup.co.th
#มูลนิธิศิลปสมัย #AvantGardeArtFoundation #วสันต์สิทธิเขตต์ #Auction #bangkokartauction
Comments