ว่าไงสายอาร์ต เคยลองสังเกตภาพเขียนผ้าใบในบ้านคุณบ้างหรือเปล่า งานที่แขวนไว้มีการเปลี่ยนสภาพ กรอบเปราะ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้มบ้างไหม วันนี้เราจะพาทุกคนไปดูกันว่าสภาพที่เกิดขึ้นมีที่มาจากอะไร และหนึ่งในวิธีแก้ไขที่นักอนุรักษ์จะทำเพื่อแก้ปัญหานี้ ต้องทำอย่างไร ถ้าพร้อมแล้วไปรับชมกันได้เลย!!
"ผ้าใบ" ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางรองรับชั้นสีหรือรองรับภาพเขียน ซึ่งในการทำงานอนุรักษ์เราจะพบปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลทำให้ผ้าใบนั้นเกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นด้านมลพิษอากาศ ความผันผวนของความชื้น การเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ การจับเคลื่อนย้ายแบบไม่ระมัดระวัง หรือเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ และแมลง ซึ่งล้วนทำให้เกิดลักษณะทางกายภาพที่อ่อนแอลง
.
ในการอนุรักษ์ผ้าใบที่เกิดการชำรุดหรือเรียกว่า การเสริมความแข็งแรงชั้นรองรับผ้าใบ มีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรอยขาด รอยเจาะ รูที่เกิดจากแรงกระแทก และอีกหลายสาเหตุ มีวิธีการหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุด คือการขึงผ้าผืนใหม่เข้ากับชิ้นงานภาพเขียน แล้วใช้สารยึดที่ทำจากขี้ผึ้ง (Wax) และเรซิ่น (Resin) จากธรรมชาติเป็นหลัก เรียกวิธีการนี้ว่า “Dutch Method” ซึ่งได้รับความนิยมในศตวรรษที่ 19 โดยนักอนุรักษ์ชาวดัตช์ Johannes Albertus Hesterman และได้พัฒนาเทคนิคจาก Nicolaas Hopman และ Willem Antunijo ซึ่งเป็นเทคนิคที่นิยมมากและยอมรับไปทั่วโลกในยุคนั้น เพื่อเสริมความแข็งแรงของผ้าใบ และชั้นสีเก่าไปพร้อมๆ กัน พร้อมกับป้องกันความชื้นจากไม้ที่ไปกระทบกับผ้าใบด้วย
.
อย่างไรก็ตามในปี 1970 หลังจากผ่านกาลเวลาของการริเริ่มวิธีการ “Dutch Method” มาสักระยะหนึ่ง เทคนิคนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ จากการที่ทำให้ภาพเขียนมีการเปลี่ยนแปลงของสีที่เข้มขึ้น และผ้าใบมีความแข็ง กรอบ เปราะ เป็นคลื่น โค้งเป็นลอน และยังส่งผลตามมาในเรื่องของการเร่งกระบวนการเสื่อมสภาพของผ้าใบ ทำลายเซลลูโลสของผ้าใบภาพเขียนที่เคยผ่านการอนุรักษ์มาด้วยวิธีการนี้
ในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องปกติที่นักอนุรักษ์จะพบเจอชิ้นงานที่ผ่านการอนุรักษ์ด้วยเทคนิค “Dutch Method” มาบ้าง ตามความรู้สมัยใหม่ในด้านการอนุรักษ์ภาพเขียน หลังจากที่นักอนุรักษ์ได้พิจารณาจากผลเสียต่างๆ ที่ส่งผลมาจากการยึดผ้าด้วยขี้ผึ้งแล้ว สิ่งแรกที่นักอนุรักษ์จะทำคือการขจัดขี้ผึ้งออก โดยนักอนุรักษ์จะลอกขี้ผึ้งเก่าออกประมาณ 95% ของภาพ โดยเริ่มจากการใช้ความร้อนอ่อนๆ ให้ขี้ผึ้งเกิดการอ่อนตัวลงและใช้มีดผ่าตัดค่อยๆ ขูดหรือใช้วิธีการรีดผ่านกระดาษทิชชู่ญี่ปุ่น ตามด้วยการนำตัวทำละลายกับ Gel มาซับบนผ้าใบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อพยายามนำขี้ผึ้งออกให้ได้มากที่สุด และหาวิธีการเสริมความแข็งแรงของผ้าใบในวิธีใหม่อย่างเหมาะสม ซึ่งในกระบวนการอนุรักษ์ สารเคมีที่ใช้ในตัวทำละลายล้วนเป็นสารที่อันตรายต่อสุขภาพ เป็นสารเสพติดและเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง จึงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้ใช้งาน ดังนั้นการอนุรักษ์งานศิลปกรรมจึงต้องทำโดยนักอนุรักษ์และผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยและถูกต้องตามมาตรฐานการอนุรักษ์แบบสากล
ในปัจจุบันมีวิธีการใหม่ๆ ที่ผ่านกระบวนการวิจัย วิเคราะห์วัสดุ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสำหรับการอนุรักษ์ผ้าใบที่เกิดการชำรุด หรือเสริมความแข็งแรงของผ้าใบด้วยเทคนิคและวัสดุที่ไม่ส่งผลเสียหรือทำลายผ้าใบแบบการใช้ขี้ผึ้ง ซึ่งทางเพจเราจะนำมาแบ่งปัน และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ทุกท่านทราบในโอกาสต่อไป อย่าลืมกดติดตามเราด้วยนะ
.
ขอบคุณข้อมูลจาก Bangkok Art Conservation Center
ติดต่อ: Tel no. 06-5665-9629
Email: service@bkkartconservation.com
.
.
__________
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารให้เราประชาสัมพันธ์ได้ที่ media@arttankgroup.co.th
Send us your Art news for PR here: media@arttankgroup.co.th
.
Art Tank Group บริการด้านศิลปะ ครบวงจร
ประมูลศิลปะ ขนส่งและติดตั้งศิลปะ อนุรักษ์งานศิลปะ อีเวนท์ศิลปะ
ติดต่อ : 061-626-4241
Comentários