top of page
รูปภาพนักเขียนPetch

“Voice of the Oppressed” โดย แพรว-กวิตา วัฒนะชยังกูร

แพรว-กวิตา วัฒนะชยังกูร ศิลปินไทยร่วมสมัยที่กำลังได้รับการจับตามองมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศกับศิลปะการแสดงสดและการท้าทายขีดจำกัดร่างกายตนเองและสังคม โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการโดนกดทับของเพศหญิงและแรงงานในอุตสาหกรรม โดยใช้การสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ นำเสนอร่างกายของมนุษย์ในท่าที่ลำบากแสนเข็ญเพื่อกล่าวถึงสังคมบริโภคนิยม ทุนนิยม รวมไปถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์และเทคโนโลยีอันก้าวหน้าในยุคปัจจุบัน ใน Bangkok Art Biennale 2022 กวิตาจัดแสดงผลงานในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการสร้างสรรค์วิดีโออาร์ต การนำเสนอผลงานด้วยเทคโนโลยีความจริงเสมือน (VR) ด้วยประสบการณ์อินเตอร์แอ็คทีฟให้ผู้ชม และศิลปะการแสดงสดอันเป็นเอกลักษณ์ของ กวิตา โดยใช้ร่างกายเป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องจักรและสิ่งของ บอกเล่าเรื่องราว การใช้แรงงาน การบริโภคที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การกดขี่ และอิสรภาพ ในชื่อชุด “Voice of the Oppressed”



ผลงาน “Voice of the Oppressed” เป็นส่วนหนึ่งของผลงานชุด Cyber Labour ซึ่งกวิตาได้ทำงานร่วมกับ พัทน์ ภัทรนุธาพร นักเทคโนโลยี และนักวิจัยชาวไทยจาก MIT Media Lab เพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะการแสดงสดและปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้นวัตกรรม AI Deepfake มาช่วยสื่อสาร โดยเป็นการจดจำใบหน้าและจดจำเสียงของกวิตา ได้แก่ Kawitash1 และ Kawitash2 ที่คนหนึ่งเชื่อในความ Oppressed หรือการกดขี่ว่าเป็นส่วนหนึ่งในของสังคม กับอีกคนที่พูดถึงเรื่อง Freedom ที่จะทำอย่างไรให้เราหลุดพ้นจากการกดขี่ ในระหว่างการแสดงผู้ชมจะได้ยินเสียงการโต้ตอบกันระหว่างสองคนนี้ เป็นบทสนทนาและข้อถกเถียงถึงการกดขี่และอิสรภาพที่จะเกิดขึ้นในสังคม

.

ในการแสดงสดกวิตาจะนั่งอยู่บนแท่นที่มีปืนฉีดน้ำและท่อพ่นควันสีดำ ซึ่งการฉีดพ่นของทั้งสองอย่างจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ Kawitash1 และ Kawitash2 กวิตาแสดงร่างกายของตนเองเป็นเหมือนเครื่องจักรผลิตดินปืนซึ่งควบคุมโดย Kawitash1 แสดงถึงภาวะการถูกกดขี่โดยที่ไม่มีเสียงที่จะพูดออกมาได้ หรือแม้แต่ควันที่อบอวลจนทำให้รู้สึกหายใจไม่สะดวก ขณะเดียวกันกวิตาก็แสดงเป็นคนขจัดดินปืนด้วยการฉีดน้ำเพื่อล้างเขม่า เปรียบเสมือนการทำงานของ Kawitash2 ในการชะล้างควันแห่งการกดขี่ เพื่อให้สามารถกลับมาหายใจได้อีกครั้ง ทำให้เสียงของเรากลับมาดังอีกครั้งหนึ่ง เพื่อปลดแอกการกดขี่ในสังคม ให้ผู้ชมที่มาชมเกิดการตั้งคำถามถึงชีวิตและสังคมในปัจจุบันว่าทำอย่างไรเราถึงจะหลุดพ้นจากการกดขี่ในโลกบริโภคสมัยใหม่อย่างในปัจจุบัน

.

ผลงานการแสดงสดชุดนี้ของกวิตา เป็นการต่อสู้ระหว่างคนที่ต้องการอิสรภาพและคนที่ต้องการกดขี่ ชวนให้ตั้งคำถามต่อผลกระทบจากทุนนิยมที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ การกดขี่ และความรุนแรงที่แฝงอยู่ในการบริโภคสมัยใหม่ที่เป็นไปอย่างรวดเร็วในสังคมไทย นำเสนอผ่านการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ที่ตัวหนึ่งมีหน้าที่ออกคำสั่ง ขณะที่อีกตัวต้องการปลดแอก รวมไปถึงผลงานชุดนี้ยังชวนทุกคนมาร่วมตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ถึงนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์อาจเข้ามามีบทบาทในโลกศิลปะมากขึ้น ทั้งในแง่แนวคิด กระบวนการ และการนำเสนอในอนาคตอันใกล้

.

ผลงาน “Voice of the Oppressed” ของกวิตา วัฒนะชยังกูร ประกอบด้วยศิลปะจัดวาง วิดีโออาร์ตและการแสดงสดเป็นเวลา 30 นาที โดยจัดขึ้นที่ ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) แสดงเป็นจำนวน 5 ครั้ง ในวันที่ 12 และ 19 พฤศจิกายน 3 และ 17 ธันวาคม 2565 และวันสุดท้ายในวันที่ 7 มกราคม 2566 ในเวลา 16.00 น. ผู้ที่สนใจห้ามพลาดเด็ดขาด

.

______

สามารถติดตามคอนเทนต์ของเราเพิ่มเติม ได้ที่ : https://arttank.media/

หรือ ส่งข้อมูลข่าวสารให้เราประชาสัมพันธ์ได้ที่ media@arttankgroup.co.th

.

Follow us here for more contents : https://arttank.media/

Send us your Art news for PR here : media@arttankgroup.co.th

.

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

コメント


bottom of page