คนมากมายอาจรู้จักไพ่ทาโร่ต์ในการทำนายโชคชะตา แต่ศิลปินรุ่นใหม่อย่างโบว์ ปัณฑิตา มีบุญสบาย มองเห็นบางแง่มุมของไพ่ทาโร่ต์ที่น่าสนใจและนำมาผสมผสานต่อยอดกับจินตนาการและความรู้สึกนึกคิดของตน เป็นผลงานชุดไพ่ทาโร่ต์ในแบบของตนเอง 22 ชิ้น คอลัมน์ Art of the Week ในสัปดาห์นี้ จึงขอหยิบผลงานที่มีชื่อว่า ‘Wheel of Fortune’ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานเพ้นท์ติ้งที่จัดแสดงอยู่ใน ‘Story of My Mind’ นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกของศิลปิน มาเจาะลึกและขยายประเด็นจนถึงที่มาของผลงานในซีรี่ส์นี้ด้วยบทสัมภาษณ์กับศิลปินแบบเอ็กซคลูซีฟเลยทีเดียว
ศิลปินโบว์ได้เล่าถึงผลงานชื่อ ‘Wheel of Fortune’ ไว้ว่า “ความหมายของไพ่ใบนี้ มันคือการเปลี่ยนแปลง เวลาที่เราไม่รู้ว่ามันจะหมุนไปทางทิศทางไหน มันจะดีหรือร้าย ทุกอย่างมันทราบไม่ชัดเจน ... ภาพผู้หญิงที่ตัดตรงช่องดวงตาให้เป็นภาพจักรวาล จักรวาลที่เราพูดกันว่ามันไร้ขอบเขต แต่เราก็ไม่รู้กันว่าแท้จริงแล้ว มันอาจจะมีขอบเขตก็ได้ เราแค่ยังไม่ได้ค้นพบถึงตรงนั้น ... เรื่องของการเปลี่ยนแปลง โบว์ใช้ตัวดวงจันทร์ล้อมรอบตัวผู้หญิงอีกที ซึ่งจะเรียงลำดับตามข้างขึ้น ข้างแรม และในเชิงวิทยาศาสตร์มันมีผลต่อโลกมาก เช่น กระแสน้ำขึ้นน้ำลง มันคือการเปลี่ยนแปลง ... ลูกโป่งสีส้มในภาพคือ ลูกโป่งดวงอาทิตย์ที่แทนเรื่องของปัญหา ซึ่งไพ่ชุดนี้ที่สร้างขึ้นมา มันเป็นไพ่ที่สร้างมาเพื่อตัวเอง มันเป็นสตอรี่ของโบว์ทั้งหมด ดวงอาทิตย์มันแทนปัญหาใหญ่ที่โบว์แบกรับไว้ แต่ส่วนที่คอยแก้ปัญหาหรือคนที่พยุงมันเอาไว้ แทนด้วยภาพเด็กผู้หญิงในฮู้ดแดงช่วยพยุง ช่วยจับลูกโป่ง ตัวละครเด็กผู้หญิงในฮู้ดแดง มันคือสภาวะข้างในจิตใจของโบว์ ... ในองค์ประกอบของทุกภาพ จะมีตัวฮู้ดแดงอยู่ ไม่ว่าฮู้ดแดงจะเป็นคนหรือเป็นสัตว์หรือรูปที่เหมือนตัวเอง มันจะคอยแก้ปัญหาหรือปรับเปลี่ยนให้ภาพไพ่ทุก ๆ ชิ้นกลายเป็นไพ่ที่ดี ปกติแล้วไพ่ทาโร่ต์จะมีทั้งไพ่ที่ดีและไม่ดี แต่ทั้งหมดในนิทรรศการ มันคือไพ่ปัญหา มันอาจจะเคยเป็นไพ่ที่ไม่ดีทั้งหมด แต่โบว์ได้แก้ปัญหามันมาหมดแล้ว ทำให้ทุกใบกลายเป็นไพ่ที่ดี พอมันเป็นไพ่ที่เกิดขึ้นไปแล้ว และเป็นพาร์ทอดีตของโบว์ มันก็คือไดอารี่ที่โบว์เขียนและจบไปแล้ว”
.
เมื่อถามถึง “ทำไมต้องเป็นไพ่ทาโร่ต์” ศิลปินได้เผยว่า “ตอนนั้นอายุ 23 เพิ่งเรียนจบมาใหม่ๆ รู้สึกตัวเองประสบความสำเร็จมาก ทำให้โบว์รู้สึกว่าตัวเองโตเกินไว และไม่พร้อมที่จะรับมือ หรือแก้ปัญหา การตัดสินใจของเราบางอย่างมันเด็กเกินไป ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เพราะฉะนั้นวัยเบญจเพสของโบว์คือตอนอายุ 23-24 เลยอยากทำไพ่ทาโร่ต์ชุดนึงขึ้นมาและทำมันให้เป็นไพ่ดีทั้งหมด เป็นไพ่ที่ทำเพื่อเราและชีวิตเราก็จะดีขึ้น มันเกิดจากความเชื่อเล็ก ๆ ตรงนี้ ก็เลยทำผลงานเป็นชุดไพ่ทาโร่ต์นี้ขึ้นมา จากความหมายของไพ่แต่ละใบที่มันเข้ากับตัวโบว์ด้วย โบว์รู้สึกว่าการเป็นไพ่ทาโร่ต์มันมีความสากลด้วยตัวของมันเอง มันสามารถอธิบายเป็นภาษาภาพได้ การสื่อสารผ่านภาษาภาพที่โบว์วาดเป็นไพ่ทาโร่ต์ ทำให้โบว์ไม่ต้องอธิบายด้วยตัวเอง แต่คนก็สามารถเข้าใจและดูออกว่าเราต้องการสื่ออะไร จึงเลือกไพ่ทาโร่ต์”
.
ศิลปินยังได้อธิบายถึงกระบวนการในการตีความไพ่ทาโร่ต์ และกลวิธีสร้างภาษาภาพเพื่อสื่อเรื่องราวในแบบของตนเองอีกด้วย “ทีแรกโบว์ไปเรียนศาสตร์การดูไพ่แบบจริงจังมา ด้วยความที่เราต้องวาดมัน ถึงแม้ว่าเราจะวาดมันขึ้นมาเป็นเวอร์ชั่นใหม่ แต่ก็ยังอยากให้พื้นฐานบางอย่างที่อ่านแล้วเหมือนกันทั่วโลกยังอยู่ ก็เลยไปเรียน แล้วก็มาสเก็ตช์เยอะมาก จริง ๆ ไพ่แต่ละใบจะมีส่วนสำคัญอยู่ไม่กี่จุด องค์ประกอบต่าง ๆ ไม่ว่าเป็นสี ตำแหน่ง สัญลักษณ์ของวัตถุที่อยู่ข้างในไพ่ ก็ต้องมีความตรงกัน พอเรามีความรู้พื้นฐานมาแล้ว เราก็เอามาใช้ ... โบว์มีผู้ช่วยดูให้ชื่อ ศุภสัณห์ ไชยพานิช นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปี1 จะเป็นคนดูให้ว่ายังอ่านออกในแง่ของความเป็นไพ่ แต่ยังสื่อได้ตรงกับที่เราต้องการหรือไม่ เพราะเมื่อเป็นงานศิลปะแล้ว เราก็ต้องไม่ให้ดูงมงายจนเกินไป อยากให้ความเป็นศิลปะถูกชูขึ้นมา ส่วนความหมายก็ตามมา และชื่อไพ่ที่อยู่ในภาพตามมาเป็นอันดับที่สาม ที่สำคัญคือ ยังรักษาความเป็นตัวตนของเราอยู่”
ล้วงลึกกับผลงานและการทำงานของศิลปินมาขนาดนี้แล้ว จะไม่ถามถึง “ในจำนวนไพ่ 22 ใบ มีใบไหนที่รู้สึกสื่อถึงตัวเรามากที่สุด” ก็คงไม่ลึกจริง ซึ่งศิลปินก็ตอบได้อย่างลึกซึ้งว่า “ไพ่ที่เป็นตัวตนที่สุดจะเป็นไพ่ใบที่ 23 ซึ่งจริงๆแล้ว มันเป็นไพ่หน้าปก เป็นภาพเพ้นท์ติ้งชื่อว่า “Who am I” ที่วาดเป็นชิ้นสุดท้ายในนิทรรศการนี้ และเป็นภาพที่อยู่บนกล่องไพ่ด้วย มันจะมีตัวโบว์เล็กๆ ที่เป็นตัวฮู้ดแดงเยอะๆ อยู่ในนั้น ... ในช่วงนั้นเราเจอปัญหามาก สภาพจิตเราไม่ค่อยดี มันจึงเป็นไพ่ที่ทบทวนเรื่องราวตัวเอง รวบรวมตัวฮู้ดแดงทุกตัวที่ช่วยแก้ปัญหาในไพ่ทุกใบมารวมกัน เหมือนตอนจบละครเวที ผลงานชิ้นนี้ทำให้โบว์เห็นตัวเองในทุกๆ มุม ทุกๆ รูปแบบ วาดตัวเองซ้ำ ๆ มันเป็นการทำและย้ำตัวเองว่าจริง ๆ แล้ว “เราเป็นใคร”
______
สามารถติดตามคอนเทนต์ของเราเพิ่มเติม ได้ที่ : https://arttank.media/ หรือ ส่งข้อมูลข่าวสารให้เราประชาสัมพันธ์ได้ที่ media@arttankgroup.co.th . Follow us here for more contents: https://arttank.media/ Send us your Art news for PR here: media@arttankgroup.co.th . #Artoeftheweek #arttank #arttankmedia #arttankgroup #media #press #artmedia #artcontent #arthappening #artnow #art #visualart #fineart #contemporaryart #artscene #artworld #artexhibition #ศิลปะ
Commentaires